RMF กองทุนประหยัดภาษีที่ไม่ควรมองข้าม
เมื่อพูดถึงการลงทุนที่มีโอกาสได้ทั้งผลตอบแทนและสิทธิลดหย่อนภาษี คุณนึกถึงอะไรเป็นอย่างแรก?
เชื่อว่าส่วนใหญ่มักจะนึกถึงกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) …จะมีเพียงบางคนเท่านั้นที่นึกถึงกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เนื่องจากมองว่าระยะเวลาที่ต้องลงทุนของ LTF นั้นประมาณ 5 – 7 ปีเท่านั้น เทียบกับการลงทุนใน RMF ที่ต้องลงทุนต่อเนื่องไปจนอายุเกษียณถึงจะเอาเงินออกมาได้ จึงทำให้ RMF ถูกคนส่วนใหญ่มองข้ามไป แต่เชื่อว่าหลังจากที่
อ่านบทความนี้จะเปลี่ยนความคิดของใครหลายๆ คนไปเลยทีเดียว
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหรือ Retirement Mutual Fund (RMF) ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมให้เกิดการออมเงินระยะยาวไว้สำหรับใช้จ่ายยามเกษียณอายุ โดยผู้ที่ลงทุนใน RMF จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเท่ากับยอดเงินลงทุน จำกัดสูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
และประกันชีวิตแบบบำนาญแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี
นั่นหมายความว่าหากท่านเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ในฐานใด การลงทุนใน RMF จะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีในอัตรานั้น โดยที่ยังไม่รวมผลตอบแทนจากการลงทุนนั่นเอง เช่น ถ้าคุณมีเงินได้สุทธิก่อนการคำนวณภาษีเท่ากับ 750,000 บาท ซึ่งตกอยู่ในขั้นที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตรา 15% การที่คุณลงทุนใน RMF จำนวน 100,000 บาท
จะทำให้เงินได้เพื่อเสียภาษีของคุณหลังหักค่าลดหย่อนต่างๆ แล้วจำนวน 650,000 บาท เทียบได้กับว่าการซื้อ RMF ครั้งนี้ได้ภาษีคืนจากค่าลดหย่อนภาษีในอัตรา 15% นั่นเอง
ด้วยเงื่อนไขของ RMF ที่กำหนดให้ผู้ลงทุนต้อง ลงทุนสม่ำเสมอไม่น้อย 5 ปี และต่อเนื่องไปจนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ถึงจะขายได้ ซึ่งในกรณีที่จำเป็นสามารถหยุดพักการลงทุนได้ไม่เกิน 1 ปี หรือหากเป็นไปได้แนะนำว่าให้ซื้อตามกำหนดขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ที่เสียภาษี หรือ 5,000 บาท แล้วแต่ยอดใดจะต่ำกว่า เพื่อให้ถูกต้องตามเกณฑ์ที่สรรพากรกำหนด
ซึ่งจะได้รับสิทธิ์ลดหย่อนทั้งยอดเงินลงทุนและกำไรส่วนต่างราคา ทำให้เงินลงทุนใน RMF นั้นถูกเก็บรักษา และเพิ่มพูนจากการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ไม่ถูกนำออกมาใช้หากไม่จำเป็น จึงทำให้ RMF เป็นเครื่องมืออันดับต้นๆ ที่ควรเลือกใช้ในการวางแผนเพื่อการเกษียณ
นอกจากนี้แล้วนโยบายของ RMF นั้น ยังมีให้เลือกหลากหลายกว่า LTF ซึ่งเน้นลงทุนแต่ในตราสารทุนหรือหุ้นเป็นหลัก โดยนโยบายการลงทุนของ RMF มีให้เลือกตั้งแต่ตราสารตลาดเงิน ตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล หุ้น กองทุนรวมอสังหาฯ รวมถึง ทองคำ ดังนั้นหากท่านใดที่ไม่ชอบความเสี่ยงหรือกลัวการขาดทุนก็สามารถเลือกนโยบายการลงทุนที่ลงทุนในตราสารตลาดเงิน
หรือ ตราสารหนี้แทนได้ ไม่ต้องถูกบังคับให้ลงทุนในหุ้นเป็นหลักเหมือน LTF
อย่างไรก็ตาม ก่อนการตัดสินใจลงทุนใน RMF แนะนำว่าไม่ควรมองถึงเรื่องประโยชน์ทางภาษีเป็นปัจจัยหลัก แต่ควรพิจารณาถึงเงินที่ตั้งใจเก็บไว้ให้เพียงพอใช้ในยามเกษียณ และศักยภาพในการหาเงินของตนเองด้วย เพราะหากเรายังไม่ทราบจำนวนเงินที่ต้องเตรียม ก็คงไม่ทราบเงินลงทุนที่ต้องสะสมในแต่ละปีว่าเป็นเท่าไร โอกาสที่จะเก็บเงินให้ได้ตามเป้าหมาย
ก็คงเป็นเรื่องยาก เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นลองดูจากตัวอย่างดังนี้
ถ้าวันนี้คุณเริ่มลงทุนเดือนละ 2,000 บาท หรือปีละ 24,000 บาท แต่ตั้งเป้าว่าวันเกษียณอยากมีเงินเก็บ 15 ล้านบาท โดยมีเวลาเก็บเงินอีก 20 ปี คุณคิดว่าจะเก็บเงินทันไหม? ถ้าไม่ทัน คุณอาจจะต้องเปลี่ยนมาลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงขึ้น จนอาจจะเกินกว่าระดับที่ยอมรับได้ เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นจนทำให้เงินออมของคุณเติบโตได้ทัน และเช่นเดียวกันกับ
บางคนที่อาจจะทราบตัวเลขในใจแล้วว่าต้องเก็บเงินเดือนละเท่าไร แต่การแบ่งเงินจำนวนมาก ๆมาลงทุนก็อาจจะกระทบกับสมดุลด้านอื่นในชีวิตได้ ดังนั้น ก่อนการซื้อ RMFควรพิจารณาถึงเรื่องจำนวนเงินและระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตัวคุณด้วย
ถ้าถามว่าเราควรจะจัดสรรเงินลงทุนในกองทุน RMF อย่างไรดี?
เนื่องจาก RMF ถือเป็นการลงทุนระยะยาวอาจจะหลายสิบปี ผู้ลงทุนจึงอาจพิจารณาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเช่น หุ้นสามัญ ในสัดส่วนที่สูงได้ เมื่อเทียบกับการลงทุนเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ แต่หากปัจจุบันคุณมีการลงทุนใน LTF เต็มจำนวนอยู่แล้ว ซึ่ง LTF มีนโยบายลงทุนให้หุ้นเป็นหลัก คุณอาจพิจารณาเลือกซื้อ RMF ที่กระจายความเสี่ยงไปยังตราสารประเภทอื่นๆบ้าง
เช่น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ตราสารหนี้ หรือ กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ เป็นต้น
ถึงแม้เราจะสามารถเลือกลงทุน RMF ได้หลากหลายนโยบายการลงทุน แต่แนะนำว่าไม่ควรกระจายการลงทุนหลายกองทุน และหลาย บลจ.มากจนเกินไป มิเช่นนั้น ทุกต้นปีอาจจะต้องมาวุ่นวายวิ่งหาเอกสารประกอบภาษีได้
อย่างในช่วงสิ้นปีที่ราคาสินทรัพย์อาจจะขึ้นมาค่อนข้างสูง คุณอาจจะเลือกลงทุน RMF ที่มีนโยบายลงทุนในกองทุนตราสารหนี้หรือตราสารตลาดเงินที่ความเสี่ยงน้อยก่อน และรอจังหวะที่ราคาหุ้นปรับลงมา แล้วจึงสับเปลี่ยนจากนโยบายที่เสี่ยงต่ำไปยังหุ้นได้เช่นกัน
ในการคัดเลือกกองทุน RMF ว่าควรเลือกกองทุนของบริษัทจัดการฯ ที่ไหนนั้น เสนอว่านอกจากผลการดำเนินงานแล้ว ควรพิจารณาในเรื่องของค่าใช้จ่ายด้วย เพราะถ้าคุณตั้งใจเก็บออมเงินเพื่อการเกษียณ ซึ่งอาจเป็นเวลายาวนาน 20 – 30 ปี หากกองทุน RMF ที่เลือกมีค่าใช้จ่ายที่สูง ก็จะทำให้กระทบกับจำนวนเงินที่ได้รับ ณ วันเกษียณได้ อย่างเช่น
หากลงทุนในกองทุนรวมหุ้นที่มีค่าใช้จ่ายกองทุนรวมปีละ 2% หากลงทุนไป 30 ปี นั่นหมายความว่า เงินคุณหายไปไม่ต่ำกว่า 60% เลยทีเดียว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องเทียบในเรื่องของอัตราผลตอบแทนที่ได้รับด้วยว่าคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่เราเสียไปหรือไม่
ไม่เพียงแต่ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียตลอดระยะเวลาลงทุนแล้ว ในกรณีที่ต้องการสับเปลี่ยนกองทุน โดยปกติการสับเปลี่ยนกองทุน RMF ระหว่าง บลจ. มักจะมีค่าใช้จ่าย ซึ่งไม่น้อยเลย บางครั้งอาจจะสูงถึง 1% แต่การสับเปลี่ยนภายใน บลจ. เดียวกัน ในบางแห่งการสับเปลี่ยนกองทุน RMF อาจจะไม่มีค่าใช้จ่าย ดังนั้น ถ้าคุณตั้งใจว่าจะสับเปลี่ยนกองทุนบ่อยๆ
แนะนำว่าให้พิจารณา บลจ. ที่มีประเภทกองทุน RMF ที่หลากหลายและมีค่าใช้จ่ายสับเปลี่ยนต่ำๆ หรือไม่มีค่าใช้จ่าย
จะเห็นได้ว่า RMF มีจุดดีหลายข้อที่น่าสนใจไม่แพ้ LTF เลย ซึ่งถ้าหากคุณสนใจ RMF และเริ่มลงทุน ก็ควรจะติดตามดูผลการดำเนินงานของกองทุนที่ลงทุนด้วย และหมั่นพิจารณาปรับพอร์ตการลงทุนให้เป็นไปตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ เพื่อให้มั่นใจว่าเงินก้อนนี้จะเติบโตไปตามเป้าหมายที่คุณตั้งเป้าไว้ได้จริง การลงทุนมีความเสี่ยงนักลงทุนควรตะหนัก