ทบทวนอีกครั้งก่อนตัดสินใจลงทุน LTF
เข้าสู่เดือนธันวาคมแล้ว เหลืออีกเพียงไม่กี่วันสำหรับจัดการเรื่องภาษีของปีนี้ หลายท่านที่ยังไม่ได้วางแผนเรื่องค่าลดหย่อนคงต้องรีบวิ่งหาตัวช่วย อาจจะได้เห็นเพื่อนๆ ร่วมงานของท่านพูดถึงกองทุน LTF และชวนท่านไปซื้อกองทุนที่ธนาคาร
ซึ่งถ้าท่านยังรู้สึกงงๆ ว่าอะไรคือ LTF? หรือมีความรู้สึกว่าต้องซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีเท่านั้น ขอแนะนำว่าอย่าเพิ่งรีบตัดสินใจซื้อตามเพื่อน อยากให้ท่านทำความเข้าใจกับกองทุนนี้อีกครั้งก่อน
LTF คืออะไร ทำไมถึงควรลงทุน?
กองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ Long-Term Equity Fund (LTF) เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสถียรภาพให้ตลาดทุนไทย ด้วยการเพิ่มสัดส่วนผู้ลงทุนสถาบัน ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนจากแรงซื้อขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ และส่งเสริมให้คนเข้ามาเริ่มลงทุนในตลาดทุน ด้วยวัตถุประสงค์ข้างต้น LTF จึงมีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นไทยเป็นหลัก
โดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่ต่ำกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ
ลงทุนในหุ้นสัดส่วนที่สูงขนาดนี้ ก็แสดงว่าต้องมีโอกาสขาดทุนได้สิ?
ถูกต้องครับ ผลตอบแทนของ LTF ส่วนใหญ่จะมีแนวโน้มขึ้นลงตามดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งในระยะสั้นๆ อาจมีโอกาสติดลบได้ เพราะฉะนั้นจึงควรพิจารณาถึงเรืองความเสี่ยงก่อนจะตัดสินใจลงทุนด้วย
แต่อย่าเพิ่งตกใจไป เพราะด้วยเงื่อนไขการลงทุนของ LTF บังคับให้เราลงทุนระยะยาวอยู่แล้ว ซึ่งจากข้อมูลในอดีตของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ หากลงทุนได้ยาวกว่าสิบปี มีโอกาสได้รับอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยสูงกว่า 10% ต่อปีเลยทีเดียว
นอกจากนี้แล้วผู้ลงทุนใน LTF ยังได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีตามจำนวนเงินที่ลงทุนเป็นผลประโยชน์เพิ่มเติมนอกเหนือไปจากผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนอีกด้วย
ทบทวนกฎเกณฑ์เพื่อรับสิทธิ์ลดหย่อน
ก่อนที่ท่านจะตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF อยากให้ท่านทราบถึงกฎเกณฑ์ของ LTF ไว้ด้วยเพราะหากท่านทำผิดเงื่อนไข ท่านจะถูกสรรพากรเรียกภาษีคืนรวมถึงเงินเพิ่มสูงถึงเดือนละ 1.5% ย้ำอีกครั้ง “ต่อเดือน” หรือคิดเป็น 18% ต่อปีเลยทีเดียว
สำหรับเงื่อนไขของ LTF มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดยตั้งแต่ปี 2559 เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษี ท่านจะต้องลงทุนเป็นระยะเวลา 7 ปี ปฏิทิน (เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 5 ปีปฏิทิน) โดยสิทธิ์ลดหย่อนสูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น หากท่านมีเงินเดือน + คอมมิชชั่น + โบนัสทั้งปี รวมกัน 1,000,000 บาท สิทธิ์ในการลดหย่อนสูงสุดจะเท่ากับ 150,000 บาท และถ้าเริ่มลงทุนในปี 2559 จะสามารถขายได้ในปี 2565
ซึ่งยอดเงินลงทุนใน LTF จำนวน 150,000 บาทนี้ จะนำไปรวมเป็นค่าลดหย่อน เพื่อคำนวณเงินได้สุทธิก่อนการคำนวนภาษีนั่นเอง
พอทราบรายละเอียดเกี่ยวกับ LTF กันแล้ว ลองถามถึงตัวท่านเองก่อนว่า…
- ท่านสามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้หรือไม่?
นึกตามง่ายๆ ถ้าวันนี้เงินที่ซื้อกองทุน LTF ไปจำนวน 100,000 บาท ลดเหลือ 70,000 บาทหรือน้อยกว่านั้น
ท่านยังสามารถรับได้หรือไม่
- ระยะเวลาที่เงินก้อนนั้นสามารถนำมาลงทุนได้ยาวถึง 7 ปีไหม?
เพราะหากท่านมีเป้าหมายที่ต้อแผนที่จะใช้เงินในช่วง 3 – 5 ปีข้างหน้า การลงทุนใน LTF อาจจะไม่เหมาะก็เป็นได้ เพราะหากท่านถอนออกมาก่อน เท่ากับท่านผิดเกณฑ์ทันที
- งบประมาณที่สามารถแบ่งมาซื้อ LTF ได้กระทบกับสภาพคล่องทางการเงินหรือไม่?
หากสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้เต็มถือเป็นการวางแผนภาษีที่ดี แต่ถ้าการซื้อ LTF จำนวนมากๆ หรือซื้อเต็มสิทธิ์ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 15% ของรายได้ อาจจะกระทบกับสภาพคล่องทางการเงินของท่าน รวมถึงงบการเงินด้านอื่นๆ ด้วย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นคงไม่ดีแน่ๆ เพราะฉะนั้น ก่อนการซื้อควรพิจารณาความสามารถในการซื้อของตนเองก่อนด้วย
- ผลตอบแทนจากการลงทุน และสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากค่าลดหย่อนภาษี
ซึ่งดูง่ายๆ จากฐานภาษีที่ท่านเสียอยู่นั่นเอง หากท่านยังไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีแล้วล่ะก็ แนะนำว่านำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมทั่วไปน่าจะเหมาะสมกว่า
เมื่อทราบถึงจำนวนเงินที่เหมาะสมและตั้งใจว่าจะซื้อ LTF แน่ๆ งั้นเรามาเลือกกองทุน LTF กันดีกว่า
อย่างที่ทราบกันดีว่ากองทุน LTF ในตลาดมีจำนวนไม่น้อย แล้วเราควรจะเลือกลงทุนในกองทุนของที่ไหนดี? จะซื้อตามที่เพื่อนๆ บอกเลยดีไหม?
คำตอบคือ… อย่าเพิ่งรีบร้อน เพราะกองที่เพื่อนแนะนำอาจจะไม่ได้เหมาะกับตัวเราก็ได้ ขอแนะนำว่าให้พิจารณาตามขั้นดังต่อไปนี้
- นโยบายการลงทุน
แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นกองทุน LTF ที่ลงทุนในหุ้นสามัญเหมือนกันแต่จริงๆแล้วแต่ละกองทุนมีนโยบายการลงทุนที่แตกต่างกันไป เช่น เน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่ หุ้นขนาดเล็กและขนาดกลาง หุ้นผันผวนต่ำ และ หุ้นที่มีบรรษัทภิบาลดีเยี่ยม เป็นต้น สำหรับท่านที่อาจจะไม่ชอบความเสี่ยงมากนัก สามารถเลือกลงทุนในกองทุน LTF ที่กำหนดขอบเขตการลงทุนหุ้นในสัดส่วน
ไม่เกิน 70% หรือ 75% และมีนโยบายลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ที่มีความผันผวนน้อยกว่าหุ้นขนาดเล็ก – กลาง ได้เช่นกัน
- ผลการดำเนินงานในอดีต
ถึงแม้ว่าอดีตไม่ได้บ่งบอกสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต แต่ก็สามารถบอกถึงฝีมือที่ผ่านมาของผู้จัดการกองทุนได้
ซึ่งการดูผลตอบแทนในอดีตนั้น ควรดูทั้งผลตอบแทนทั้งในระยะสั้น และระยะยาวด้วยว่าเป็นอย่างไร โดยเฉลี่ยแล้ว
ผลการดำเนินงานอยู่ในระดับที่ยอมรับได้หรือไม่ ซึ่งถ้าทำได้ไม่ดีกว่าหรือใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของตลาดก็มองข้ามกองทุนนั้นไปได้เลย
- ความเสี่ยงหรือความผันผวนของผลตอบแทน
การจะดูแต่ผลตอบแทนเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เหมาะ ต้องดูด้วยว่าผลตอบแทนที่ได้นั้นสม่ำเสมอหรือไม่ หรือถ้าหวือหวา ชวนหวาดเสียวเกินไป ก็อาจจะไม่เหมาะกับบางท่านที่หัวใจไม่แข็งแรงนัก
- ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับกองทุน
ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมการซื้อขาย ค่าธรรมเนียมการจัดการ ค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับกองทุน ซึ่งบางกองทุนค่าใช้จ่ายรวมๆแล้วสูงกว่า 2% ต่อปีเลยทีเดียว ดังนั้นอาจจะต้องเปรียบเทียบกับอัตราผลตอบแทนที่ได้รับด้วยว่าคุ้มค่าหรือไม่
- นโยบายการจ่ายปันผล
ด้วยเกณฑ์การลงทุนระยะยาวหลายปี ทำให้บางท่านอาจรู้สึกอึดอัดว่าต้องเอาเงินมาแช่อยู่ในกองทุนนานๆ โดยไม่ได้อะไรกลับมาบ้างเลย จะขายก็ขายไม่ได้เพราะเดี๋ยวผิดเงื่อนไข แต่อยากจะได้เงินออกมาใช้บ้างระหว่างทาง ท่านสามารถเลือกลงทุนในกองที่มีนโยบายจ่ายปันผลได้ แต่ควรทราบไว้ด้วยว่าเงินปันผลที่ได้รับนั้นจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ด้วย
ถึงตอนนี้เชื่อว่าท่านผู้อ่านจะเข้าใจกองทุน LTF มากขึ้น และสามารถเลือกกองทุนที่ถูกใจ เหมาะสมกับตนเองได้แนะนำว่าเมื่อท่านเริ่มลงทุนแล้ว อย่ามองว่า LTF เป็นแค่เครื่องมือลดหย่อนภาษี และปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้สนใจ รอจนวันครบกำหนดจะได้ขายออกมาก แต่อยากให้ท่านติดตามข่าวเศรษฐกิจ ศึกษาข้อมูลการลงทุน และผลการดำเนินงานของกองทุนด้วย
เพื่อที่ท่านจะมีความเข้าใจการลงทุน และสามารถเลือกกองทุน รวมไปถึงปรับเปลี่ยนกองทุนให้เหมาะสมกับตัวท่านและสถานการณ์ได้ ณัฐมล ทิ้งท้าย