ซื้อกองทุนอย่างไรไม่ให้อกหัก
หลายคนอาจคำถามว่าหากจะเริ่มต้นลงทุนกองทุนรวมวันนี้ “สายเกินไปหรือยัง” คำตอบคือ ไม่สาย เพียงแต่ต้องศึกษาหาข้อมูล วิเคราะห์ สำรวจตัวเองให้ดีๆ เพราะการเลือกกอนทุนรวม หรือเลือก บลจ. ก่อนตัดสินใจลงทุน ไม่แตกต่างไปจากการลงทุนหุ้น
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาก็มีนักลงทุนที่ลงทุนกองทุนรวมแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งๆ ที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนคอยดูแลเม็ดเงิน แต่ผลลัพธ์ออกมาไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง คำถามคือ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
ประเด็นนี้ คุณกิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์ข้อมูลอาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยสาเหตุที่ทำให้การลงทุนกองทุนรวมเกิดความผิดพลาดได้อย่างไม่น่าเชื่อ
- ตามเทรนด์
“วันนี้ซื้อตัวไหนดี” “บ่ายนี้ขายตัวไหนดี” เป็นคำถามสุดคลาสสิกที่พบเจอได้ทุกวันในห้องค้าหุ้น กองทุนรวมก็เช่นเดียวกัน นั่นคือ ลงทุนตามกระแส หมายถึง กองทุนอะไรก็ตามที่ฮอตฮิตในขณะนั้น นักลงทุนมักจะตัดสินใจซื้ออย่างไม่ลังเล
“พูดง่ายๆ กลัวตกรถไฟ จึงใช้เวลาตัดสินใจลงทุนเพียงเสี้ยววินาที จากการโปรโมทโฆษณาของกองทุน หรือจากการดูผลตอบแทนย้อนหลัง”
สังเกตได้ว่าบางครั้งการออกกองทุนรวมอาจจะมาจากกระแส เช่น ในอดีตมีช่วงหนึ่งที่ บลจ.เกือบทุกค่าย ออกกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ จนมีชื่อเรียกกันเล่นๆ ว่ากิมจิบอนด์
ทุกวันจะมีการโปรโมทความน่าสนใจ ทำให้นักลงทุนต่างมองโลกในแง่ดีจึงไม่สนใจอ่านข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนที่ตัวเองกำลังจะลงทุน
“เพราะส่วนใหญ่ (เกือบทุกคน) จะตัดสินใจด้วยอาศัยการฟังการโปรโมท”
การตัดสินใจด้วยวิธีการนี้ ข้อเสียคือ ไม่รู้รายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนที่กำลังจะลงทุน “อย่าลืมว่าเวลาพ่อค้าแม่ค้าขายสินค้าจะบอกแต่ข้อดี เช่นเดียวกันเวลาจะขายกองทุนกองใหม่ ผลการดำเนินงานที่นำเสนอเป็นผลตอบแทนย้อนหลังทั้งสิ้น และแน่นอนต้องเป็นผลตอบแทนที่น่าสนใจ ที่สำคัญ สังเกตได้ว่าเวลานำเสนอมักเป็นช่วงกำลังถึงจุด Peak
ของธีมการลงทุน คล้ายๆ กับลงทุนหุ้น หลายๆ ครั้งนักลงทุนมักรับรู้ข้อมูลและตัดสินใจลงทุนตอนที่นักลงทุนอื่นๆ เข้าลงทุนนานแล้ว ผลลัพธ์คือซื้อได้ราคาสูง เหตุการณ์แบบนี้อาจจะเรียกว่า กับดักของผลตอบแทน หรือการวิ่งไล่ตามผลตอบแทน ที่เรียกว่า Chasing Performance” คุณกิตติคุณ อธิบาย
“เวลาลงทุน คุณควรลงทุนในเวลาที่คนไม่ต้องการ” คำพูดของวอร์เรน บัฟเฟตต์ สามารถนำมาใช้ได้กับการลงทุนในกองทุนรวม นั่นคือ ไม่ควรลงทุนในช่วงที่ทุกคนกระโจนเข้ามา เพราะในช่วงที่ทุกคนมองโลกในแง่ดี จะทำให้ลืมมองความเสี่ยงทั้งหมด
“สมมติว่าทุก บลจ. ออกกองทุนที่มีนโยบายลงทุนหุ้นสหรัฐอเมริกา คุณอาจจะไม่ดูข้อมูลเลยว่าพวกเขาไปลงทุนหุ้นตัวไหน ประเภทไหน มีการป้องกันความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนหรือไม่ แต่ที่ซื้อเพราะเพื่อนๆ ซื้อกันหมด ไม่อยากตกรถไฟ”
การลงทุนแบบนี้ สิ่งที่ตามมาหนีไม่พ้นการมองโลกในแง่ดีว่าจะได้ผลตอบแทนสวยหรูตามที่ถูกโปรโมทเอาไว้ แน่นอนถ้ากองทุนสร้างผลตอบแทนได้ตามที่คาดหวังก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นไปในทางตรงข้ามคงดูไม่จืดและได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดี
“การลงทุนตามกระแสนับเป็นข้อผิดพลาดที่เจอกับนักลงทุนไทยมากเป็นอันดับต้นๆ ของการลงทุนในกองทุนรวม”
วิธีแก้ไข
ถ้ารู้ตัวว่ามีความผิดพลาดเพราะ “ตามกระแส” โดยไม่ได้ศึกษารายละเอียดมาก่อน ต้องหาข้อมูลทันที หรือโทรถามเจ้าหน้าที่ บลจ. นั้นๆ เกี่ยวกับกองทุนดังกล่าว จากนั้นถามตัวเองว่าเหมาะกับกองทุนนี้หรือไม่ ถ้ารู้สึกว่ายังใช่อยู่ก็ให้เวลากับกองทุนนี้ด้วยการลงทุนต่อ แต่ถ้าไม่ใช่ต้องขายแล้วไปหากองทุนที่เหมาะกับตัวเอง
- ด่วนเกินไป
ไม่ผิดที่ บลจ. จะนำเสนอกองทุนที่กำลังอยู่ในกระแส ที่สำคัญพวกเขาไม่ได้แนะนำให้เน้นลงทุนสั้นๆ เพราะเป็นที่เข้าใจกันดีว่าการลงทุนกองทุนรวมให้ประสบความสำเร็จต้อง “ระยะยาว”
“ไม่มี บลจ.ไหน บอกว่าซื้อกองนี้แล้ว อีก 3 เดือนให้ขายทำกำไร”
คุณกิตติคุณ อธิบายต่อไปว่ากองทุนรวมถูกออกแบบมาเพื่อการลงทุนระยะยาว ดังนั้น นักลงทุนจะได้คำแนะนำจาก บลจ. เสมอว่า กองทุนรวมมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีใน 3 ปี 5 ปีข้างหน้า ยกตัวอย่าง เมื่อ 3 ปีที่แล้ว กองทุนที่มีนโยบายไปลงทุนตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาได้รับความนิยมสูง ผ่านไป 1 ปี นักลงทุนเริ่มตั้งคำถามว่าผลตอบแทนแทบไม่ไปไหนเลย
ไม่สวยงามเหมือนที่ บลจ. นำเสนอเลย ผ่านไปปีครึ่งก็ยังไม่ใช่ ใครที่รอไม่ไหวก็ตัดสินใจขาย แต่คนที่รอมาจนถึงวันนี้พบว่าผลตอบแทนที่ได้รับน่าประทับใจ
“ถึงแม้ว่าไม่มีใครการันตีได้ว่า ในอีก 3 ปี 5 ปีผลตอบแทนจะเป็นอย่างไร แต่การลงทุนกองทุนรวมระยะยาวมักจะประสบความสำเร็จมากกว่าล้มเหลว ดังนั้น การลงทุนกองทุนรวมอย่างน้อย 3 ปี 5 ปีถือเป็นเรื่องปกติ”
วิธีแก้ไข
อันดับแรกนักลงทุนต้องปรับทัศนคติเกี่ยวกับการลงทุนกองทุนรวมว่า “อย่างน้อยๆ ต้อง 1 ปีขึ้นไป” และเมื่อลงทุนกับกองทุนแล้วอย่าดูข้อมูลบ่อย เพราะการลงทุนในกองทุนรวมไม่ใช่การเก็งกำไรที่ต้องดูความเคลื่อนไหวทุกวัน วิธีการ คือ ตรวจสอบกองทุน 6 เดือนต่อครั้ง หรือ 1 ปีต่อครั้ง และควรให้เวลากับผู้จัดการกองทุนในการลงทุน
“แต่เมื่อผ่านไป 1 ปี ผลตอบแทนกองทุนที่ลงทุนออกมาไม่ค่อยสวยงาม ต้องเข้าไปดูข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้น โทรไปถามเจ้าหน้า ถ้ายังมั่นใจว่าใช่ก็ถือต่อ แต่ถ้าไม่ใช่ต้องขายเพื่อเป็นเปลี่ยนกองที่ใช่”
- เคมีตรงกัน
ทุกวันนี้การทำความรู้จักสไตล์การลงทุนของแต่ละ บลจ. ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงมากนัก ส่วนใหญ่อาศัยคนรอบข้างมาบอกว่าแต่ละ บลจ. เป็นอย่างไร ซึ่งความจริงแล้วก่อนตัดสินใจลงทุนกับ บลจ.ไหน ควรรู้จักปรัชญาการลงทุนของพวกเขาให้ลึกซึ้ง ว่ามีสไตล์การลงทุนเป็นแบบไหน เทคนิคการเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินแต่ละประเภทเป็นอย่างไร
“ถ้ารู้เรื่องเหล่านี้ จะทำให้ลงทุนกับ บลจ.นั้นๆ ได้อย่างสบายใจ”
หากนักลงทุนรู้ว่ากำลังลงทุนกับอะไร (กับใคร) ผลที่ตามมาจะทำให้เกิดความคาดหวังในระดับเหมาะสม “รู้ว่า บลจ. จะทำอะไรและไม่ทำอะไร นักลงทุนรับรู้ความเสี่ยงที่พวกเขาทำและไม่ทำ ทำให้สามารถประเมินความเสี่ยงทั้งตัวเราและ บลจ. ได้แม่นยำ อารมณ์เหมือนเคมีต้องตรงกัน”
ยกตัวอย่าง หากนักลงทุนรับความเสี่ยงได้สูงก็ต้องหา บลจ. ที่มีสไตล์การลงทุนเชิงรุก (Aggressive) แต่ถ้าเลือกลงทุน บลจ. ที่มีสไตล์เชิงรับ (Conservative) จะรู้สึกว่าอะไรๆ ก็ช้ามากและมีคำถามตามมาเป็นชุดๆ เช่น บลจ.อื่นสร้างผลตอบแทน 5% ทั้งๆ ที่มีนโยบายการลงทุนไม่ต่างกัน แต่ทำไม บลจ. นี้กลับทำผลตอบแทนได้เพียง 1% หรืออย่างมากก็ทำได้เท่ากับตลาด
หรือถ้านักลงทุนมีสไตล์การลงทุนแบบปัจจัยพื้นฐาน เน้นลงทุนหุ้นบลูชิพ หุ้นคุณค่า วิเคราะห์แบบ Bottom Up ไม่มีการเทรดดิ้ง ไม่มีวิเคราะห์เชิงเทคนิคอะไรมากนัก ให้มองหา บลจ.ที่มีปรัชญาการลงทุนสไตล์นี้ แต่ถ้ารักการลงทุนตราสารหนี้ก็ต้องดูว่า บลจ.ไหนที่เก่งการลงทุนตราสารหนี้
“อย่าทนอยู่กับ บลจ. ที่ไม่ใช่ตัวเรา เพราะหากวันใดวันหนึ่งเกิดมีเรื่องเซอร์ไพรส์ คุณอาจจะรับไม่ได้ ที่สำคัญคุณจะเป็นฝ่ายเสียหาย”
วิธีแก้ไข
ถ้านักลงทุนดูแล้วว่า บลจ. ที่กำลังลงทุน “เคมีไม่ตรงกัน” ต้องขายกองทุนแล้วไปหา บลจ. ใหม่ที่มีสไตล์และปรัชญาการลงทุนที่เหมาะกับตัวเอง เพื่อทำให้เกิดความสบายใจในการลงทุน วิธีการง่ายๆ ที่ทำให้รู้ว่า บลจ. นั้นเป็นอย่างไร ให้โทรไปถามว่า “บลจ. คุณมีสไตล์ ปรัชญาการลงทุนแบบไหน” หรือเข้าฟังสัมมนาบ่อยๆ จะทำให้รู้ว่าตัวตนของพวกเขาเป็นอย่างไร
การเปลี่ยนจากอาการ “อกหัก” จากการลงทุนกองทุนรวมเป็น “ความสำเร็จ” และอยู่ด้วยกันไปนานๆ ไม่ใช่เรื่องยาก ขอเพียงแต่ถ้ารู้ตัวว่าเริ่มไม่ใช่ควรลงมือปรับเปลี่ยนแก้ไขทันที ศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุน