ชำแหละค่าใช้จ่ายกองทุนรวม
ประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่ต้องคำนึงหากต้องการลงทุนในกองทุนรวมก็คือ ต้องรู้ว่ามีค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่นักลงทุนต้องจ่ายอะไรบ้าง เพราะค่าใช้จ่ายของกองทุนเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV)
สูตรคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV)
(มูลค่าทรัพย์สินตามราคาตลาด + ผลตอบแทนสะสม + เงินสด) – ค่าใช้จ่ายและหนี้สินของกองทุน
ค่าใช้จ่ายของกองทุนรวมเป็นส่วนที่ไปหักออกจาก NAV ดังนั้น หากมีค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนที่สูงเกินไป ส่งผลให้ NAV ของกองทุนปรับลดลง ผลตอบแทนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับจากการลงทุนก็จะน้อยลงตามไปด้วย
สาเหตุที่ทุกกองทุนรวมต้องมีการคิดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย เพราะว่าในการบริหารจัดการกองทุนรวมต้องมีการดำเนินการในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ การบริหารจัดการเงินลงทุนเพื่อหาผลประโยชน์ การเก็บรักษาทรัพย์สินของกองทุน การจัดทำบัญชีและงบการเงินต่างๆ การเปิดเผยข้อมูลการลงทุน การจัดทำทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน
รวมทั้งการบริการอื่นๆ ที่จะทำให้นักลงทุนมีช่องทางการลงทุนที่ง่ายและสะดวกขึ้น เป็นต้น
การดำเนินการที่ได้กล่าวมามีต้นทุนในการประกอบธุรกิจ กองทุนรวมจึงมีการคิดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายจากผู้ถือหน่วยลงทุน โดยค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนรวม แบ่งเป็น 2 ประเภท
- ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากนักลงทุนโดยตรง เป็นค่าธรรมเนียมที่เกิดจากการส่งคำสั่งเพื่อทำรายการต่างๆ เช่น
ค่าธรรมเนียมจากการขายหน่วยลงทุน (Front-end-fee) ค่าใช้จ่ายนี้จะถูกบวกเข้าไปกับมูลค่าหน่วยลงทุนเมื่อซื้อหน่วยลงทุน
ค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืนหน่วยลงทุน (Back-end-fee) เป็นค่าธรรมเนียมที่ถูกเรียกเก็บเมื่อขายคืนหน่วยลงทุน โดยจะถูกหักจากเงินที่ได้รับจากการขายคืนหน่วยลงทุน
นอกจากนี้ อาจมีค่าธรรมเนียมอื่นๆ เช่น ค่าธรรมเนียมในการโอนหน่วยลงทุนให้กับบุคคลอื่นหรือค่าธรรมเนียมในการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หากผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหนึ่งต้องการเปลี่ยนไปลงทุนในกองทุนรวมอีกกองหนึ่ง ภายใต้การการบริหารจัดการของบริษัทจัดการกองทุนแห่งเดียวกัน หรือค่าปรับกรณีขายคืนหน่วยลงทุนก่อนระยะ
เวลาถือครองที่กำหนดในโครงการ (Exit fee) เป็นต้น
- ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากตัวกองทุนรวม เรียกว่า Total Expense Ratio เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของกองทุนรวม ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะเป็นภาระทางอ้อมที่ผู้ถือหน่วยลงทุนต้องแบกรับด้วย เช่น
ค่าธรรมเนียมการจัดการ (Management Fee) เป็นค่าใช้จ่ายที่ บลจ. เรียกเก็บจากการบริหารเงินลงทุนของกองทุนให้ผู้ถือหน่วย
ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ (Trustee Fee) เป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมเรียกเก็บจากกองทุนรวม
นอกจากนี้ ยังอาจมีค่าธรรมเนียมอื่นๆ อีกเช่น ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ค่านายทะเบียนหน่วยลงทุน ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์กองทุน ค่าผู้สอบบัญชี ค่าใช้จ่ายในการจัดทำและแจกจ่ายหนังสือชี้ชวน เป็นต้น
การที่ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของแต่ละกองทุนรวมแตกต่างกัน เกิดจากการที่แต่ละกองทุนมีนโยบายการลงทุนที่แตกต่างกัน เช่น กองทุนรวมตราสารทุนหรือกองทุนรวมหุ้น มีค่าธรรมเนียมการจัดการ (Management Fee) สูงกว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ เนื่องจากการบริหารกองทุนมีความยุ่งยากและซับซ้อนกว่าการบริหารกองทุนรวมตราสารหนี้
นอกจากนี้ ในกองทุนรวมหุ้นด้วยกัน ถ้ามีกลยุทธ์การลงทุนแบบเชิงรับคือ ผู้จัดการกองทุนจะเลือกหลักทรัพย์และจัดน้ำหนักการลงทุนในลักษณะเดียวกับดัชนีอ้างอิง เช่น SET50 Index ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาว ไม่ปรับพอร์ตโฟลิโอบ่อยครั้งนัก ซึ่งกลยุทธ์การลงทุนแบบนี้จะมีค่าธรรมเนียมการจัดการน้อยกว่าแบบเชิงรุก ที่ผู้จัดการกองทุนมุ่งให้ผลการ
ดำเนินงานของกองทุนมีอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดหรือดัชนีอ้างอิง ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวม อย่าลืมพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ของกองทุนรวมเพื่อประกอบการตัดสินใจ ” ณัฐมล ทิ้งท้าย