จัดพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
การจัดสัดส่วนหรือพอร์ตการลงทุนได้อย่างเหมาะสมกับผู้ลงทุนเฉพาะรายนั้น เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าสามารถช่วยให้ผู้ลงทุนมีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายทางการเงินในระดับสูง เมื่อเทียบกับการที่ผู้ลงทุนเฝ้าจับจังหวะการลงทุน หรือการคัดเลือกหลักทรัพย์เป็นรายตัว สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีนโยบายการลงทุนแบบ Employee’s Choice นั้น
ควรตระหนักถึงความสำคัญของการจัดพอร์ตการลงทุนของตนเอง และใส่ใจในการตรวจสอบผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นแหล่งรายได้ยามเกษียณ โดยที่สมาชิกสามารถเลี้ยงชีพของตนเองได้อย่างสบาย ดำรงฐานะทางสังคมได้โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่นในเรื่องเงิน
การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากตัวผู้ลงทุนเอง หรือเกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น เศรษฐกิจ สังคม และ การเมือง เป็นต้น “เวลาเปลี่ยน ใจคนเปลี่ยน” พอร์ตการลงทุนก็มีความเป็นพลวัตเช่นกัน สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถจัดพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของตนเองได้โดยง่าย ๆ ด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้
1) รู้จักตนเองและรู้เป้าหมายในการลงทุน การจัดสัดส่วนการลงทุนนั้นเปรียบเสมือนการเลือกรับประทานอาหารที่แต่ละคนมีความชอบไม่เหมือนกัน ดังนั้น สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพควรที่จะเข้าใจตนเองอย่างถ่องแท้ ว่าสามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน หากยังไม่เข้าใจว่าตราสารหนี้ ตราสารทุนคืออะไร หรือยังไม่ทราบว่าการลงทุนในทองคำและอัญมณีนั้น มีความเสี่ยงมากกว่าการลงทุนในหุ้นสามัญ ก็ควรที่จะรีบศึกษาหาความรู้เสียตั้งแต่บัดนี้ ให้ทราบว่าตราสารทางการเงินประเภทนั้น ๆ ได้รายได้มาอย่างไร มีค่าใช้จ่ายอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง และมีโอกาสขาดทุนได้อย่างไร พึงตระหนักไว้เสมอว่าการลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยงจากการสูญเสียเงินต้น ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้หรือตราสารทุน และเรายอมแบกรับความเสี่ยงที่ยอมรับได้นั้น ก็เพื่อโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นในระยะยาว และพึงสังวรไว้เช่นกันว่า การไม่ลงทุนอะไรเลยก็มีความเสี่ยงจากการสูญเสียอำนาจซื้อ เนื่องจากมูลค่าของเงินนั้นลดลงตามระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น ลองเทียบราคาอาหารจานเดียวที่เราทานเมื่อครั้งยังวัยเยาว์ กับ ราคา ณ ปัจจุบัน ก็น่าจะเห็นความจริงในข้อนี้ได้โดยง่าย เคยคิดบ้างหรือไม่ว่าอีก 20 ปีข้างหน้า ราคาอาหารจานเดียวนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าไร?
หากไม่อยากที่จะดื่มเม็ดแมงลักแช่น้ำวันละ 3 เวลาเพื่อประทังชีวิตยามเกษียณ ก็ควรจัดพอร์ตการลงทุนให้มีหุ้นสามัญอยู่ในนโยบายการลงทุนของท่านด้วย เพราะข้อมูลสถิติในระยะยาวตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปนั้น การลงทุนในหุ้นจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงกว่าการลงทุนในตราสารหนี้อย่างขาดลอย และชนะอัตราเงินเฟ้อ
ด้วยเหตุนี้ การลงทุนในหุ้นสามัญจึงมีความสำคัญและจำเป็นสำหรับทุกช่วงอายุ เพราะจะทำให้เราสามารถรักษาอำนาจซื้อสินค้าและบริการในอนาคตได้นั่นเอง
2) กำหนดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นสามัญต้นแบบให้เหมาะสมกับตัวเรา สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบางรายเลือกนโยบายการลงทุนตามเพื่อนร่วมงาน หรือวิ่งตามกระแส “เขาบอกว่า” โดยลืมนึกไปว่าตัวเรา เพื่อนของเรา และ “เขา” เหล่านั้นมีความสามารถและความเต็มใจในการรับความเสี่ยงต่างกัน และที่สำคัญ เพื่อนของเรารวมถึงเขาเหล่านั้น “ไม่ได้” ใช้ชีวิตร่วมหัวจมท้ายไปกับเรายามเกษียณอายุ
ดังนั้น หากท่านต้องการคำปรึกษาเรื่องสัดส่วนการลงทุนในหุ้นสามัญที่เหมาะสม สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถติดต่อคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในหน่วยงานของท่าน เพื่อขอคำแนะนำอีกทอดหนึ่งจากผู้แนะนำการลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ซึ่งส่วนใหญ่ผู้แนะนำมืออาชีพเหล่านี้จะเป็นเจ้าหน้าที่ในทีมบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว ผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคิดค่าธรรมเนียมจัดการกองทุน ไม่ได้บริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้สมาชิกฟรี ๆ ดังนั้น สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ควรที่จะเกรงใจกับคำถามที่จะส่งผลต่อชีวิตการเกษียณของท่าน ถามเพื่อให้ได้รับคำตอบที่ท่านเข้าใจ หากไม่เข้าใจก็ให้ถามซ้ำกลับไปอีกจนกว่าจะเข้าใจ ไม่ต้องกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวในการถามคำถามเรื่องนโยบายการลงทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพราะ “การรักษาความลับของลูกค้า” เป็นจรรยาบรรณและหน้าที่ที่สำคัญของผู้แนะนำการลงทุน และ ผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
3) เปลี่ยนสัดส่วนการลงทุน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ พอร์ตการลงทุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น “มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา” ตามสภาพตลาดการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป ที่ส่งผลให้ราคาตลาดของหลักทรัพย์เปลี่ยนแปลง และ “นัยสำคัญ” ของแต่ละท่านนั้น ก็จะมีนิยามที่แตกต่างกัน อันเนื่องมาจากมาตรวัดเชิง “อัตวิสัย” อันเกิดจากความเชื่อ ความต้องการ ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่ “วัตถุวิสัย” ซึ่งทุกคนจะเห็นตรงกันหมด โดยปกติสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะได้รับ “ใบแจ้งยอดเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ทุก 6 เดือน ซึ่งจะมีการแจ้งยอดเงินและอัตราผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุน ที่สามารถเปรียบเทียบกันได้กับผลตอบแทนเฉลี่ยของอุตสาหกรรมหรือการลงทุนในตราสารประเภทเดียวกัน หากผลตอบแทนที่ได้รับไม่ได้เบี่ยงเบนออกไปจากค่าเฉลี่ยอย่างมีนัยสำคัญ ก็ไม่น่าที่จะต้องปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนแต่อย่างใด แต่ถ้าหากผลตอบแทนเบี่ยงเบนอย่างมีนัยสำคัญต่อเนื่องกันอย่างน้อย 3 ปีแล้ว ก็ควรที่จะกระตุ้นให้คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกโรงทำหน้าที่เปลี่ยนผู้จัดการกองทุนโดยไม่ชักช้า เพื่อหาทางเลือกที่ดีกว่าและปกป้องผลประโยชน์ของตัวเรา นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนยังอาจเกิดได้จากสาเหตุ 2 ประการ
ประการแรกคือตัวเราเอง เช่น มีอายุเข้าใกล้วัยเกษียณ มีความรู้เพิ่มเติมเรื่องการลงทุนในตราสารการเงินที่ซับซ้อน มีประสบการณ์ลงทุนแบบล้มลุกคลุกคลานมาอย่างโชกโชน มีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งจากรายได้ประจำและรายได้จากแหล่งอื่น มีความสามารถในการรับความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป หรือ มีเป้าหมายการลงทุนที่เปลี่ยนไป เป็นต้น
ประการที่สองคือปัจจัยภายนอก เช่น ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนในหุ้นหรือพันธบัตรรัฐบาลทำให้สัดส่วนการลงทุนบิดเบี้ยวไปจากเดิม การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกหรือโครงสร้างของประชากรที่จะส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนการลงทุนในพอร์ตปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงนโยบายอัตราดอกเบี้ยและภาษี โลกาภิวัตน์ที่ส่งผลกระทบต่อประชาคมโลกร่วมกัน หรือ สถานการณ์วาทกรรมทางการเมืองอันคุกรุ่น ซึ่งส่งผลต่อการจัดสรรและเลือกใช้ทรัพยากรของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในระยะยาว เป็นต้น ซึ่งปัจจัยภายนอกนี้ ท่านจะได้รับทราบจากการรายงานของผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นประจำอยู่แล้ว
4) แจ้งการเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนตามช่องทางที่เหมาะสมทั้งเวลาและสถานที่ การคำนึงถึงกาลเทศะนั้น เป็นมารยาททางสังคม เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ฉันใดก็ฉันนั้น การเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนในพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็เช่นกัน สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะต้องทราบว่า นโยบายการลงทุนแบบ Employee’s Choice นั้น มีนโยบายการลงทุนให้เราเลือกกี่แบบ จะต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงภายในช่วงเวลาใดและจะมีผลบังคับใช้เมื่อใด ความถี่ในการแจ้งเปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุนเป็นอย่างไร จะต้องแจ้งความประสงค์กับใคร เป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ หรือ ต้องทำรายการด้วยตนเองทางอินเทอร์เน็ต เมื่อแจ้งความประสงค์ในการปรับพอร์ตการลงทุนแล้วจะได้รับหลักฐานยืนยันการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบใด มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการส่งคำขอในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้หรือไม่ เป็นอาทิ
สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่ควรที่จะปล่อยหน้าที่ในการจัดพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของตนให้เป็นไปตามยถากรรม หรือโยนความรับผิดชอบให้กับคณะกรรมการกองทุน เพราะเขาเหล่านั้นมิได้มารับผิดชอบความเป็นอยู่ของเรา เมื่อถึงคราวเกษียณอายุ การยกมูลเหตุเรื่องไม่มีความรู้เรื่องการลงทุน หรือการกล่าวโทษผู้อื่นว่าไม่มาชี้แจงรายละเอียดให้ตนทราบ จึงไม่ทำอะไรกับพอร์ตการลงทุนของตนนั้น ย่อมไม่ใช่ข้ออ้างที่สามารถฟังขึ้น เพราะระหว่างที่ดำรงสมาชิกภาพกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น สมาชิกกองทุนสามารถสอบถามเรื่องดังกล่าวได้โดยตรงกับคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของหน่วยงาน
นอกจากนี้ ผู้จัดการกองทุนและทีมงานบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็ได้จัดการประชุมประจำปีเพื่อรายงานผลการดำเนินงานกับสมาชิกอย่างน้อยปีละครั้ง หรือแม้กระทั่งข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในรูปแบบของเว็บไซต์หรือสิ่งพิมพ์ ก็ยังมีทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง เปรียบเสมือนคนที่หิวเพราะอดอาหารแล้วอ้างเหตุไม่ทราบว่ามีอาหารตั้งวางภายนอกบริเวณที่ตนอยู่ และยังกล่าวโทษผู้อื่นอีกว่าไม่มาแจ้งให้ตนทราบว่ามีอาหารตั้งอยู่ พร้อมกับมัดมือมัดเท้าตนเอง กรีดร้องขอความเป็นธรรมจากสังคม ชอบพอที่จะอยู่ในสภาพเช่นนั้น บุคคลผู้นั้นก็ย่อมสมควรแก่การที่จะอดอยากหิวโซต่อไป
“จงรักตัวเองให้เป็น เห็นตัวเองให้ชัด” อย่าเสียเวลาและพลังงานไปกับปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น ชีวิต ความเห็น คำพูด และความรู้สึกของคนอื่น แต่ขอให้ทุ่มเวลาและพลังงานที่มีในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองให้ดีขึ้น เพื่อแสดงความรับผิดชอบของความเป็นมนุษย์ ลดปัญหาสังคมทางด้านคุณภาพชีวิตของผู้ที่เกษียณอายุ การจัดพอร์ต การลงทุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นการแสดงความรับผิดชอบขั้นต้นต่อตนเองได้อย่างหนึ่ง อย่าใช้ข้ออ้างสารพัดที่พึงมี ในการที่จะเพิกเฉยไม่ทำอะไร เพราะ “คุณภาพชีวิตของเราในยามเกษียณสามารถคาดการณ์ได้จากนโยบายการลงทุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” หากเราเพิกเฉยไม่ทำอะไรเสียแล้ว ก็น่าจะมีโอกาสค่อนข้างสูงในยามชราที่ลูกหลานรุ่นใหม่วัยเกรียนคอมพิวเตอร์จะเดินมา ยิ้มอ่อน ๆ หลุบตาลงต่ำ เบ้ปากเล็กน้อย ก่อนที่จะส่งคำถามเชิงถอนหงอกว่า
“ทำไมลุงหรือป้าเป็นพหูสูต ผู้รู้แจ้งแทงตลอด สามารถตอบคำถามและสอนพวกหนูได้ในทุกเรื่อง แต่ไม่ยักรู้เรื่องของตัวเอง?” ณัฐมล ทิ้งท้าย