อายุ 60 ปี สายเกินไปหรือไม่ที่จะเริ่มซื้อหุ้น
ในปัจจุบันการลงทุนในหุ้นเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว ทำให้ใครๆ ก็สามารถมีพอร์ตการลงทุนในหุ้นได้ และสำหรับคนที่เกษียณอายุแล้ว การที่ได้ติดตามเกี่ยวกับข่าวสารทางด้านการลงทุนและได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นกับบรรดานักลงทุนด้วยกัน เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้เกิดความกระฉับกระเฉงขึ้น ไม่น่าเบื่อ แถมยังได้สังคมในการลงทุนและ
เพิ่มความมั่งคั่งให้กับตนเองอีกด้วย
แต่เนื่องจากการลงทุนในหุ้นนั้นมีความผันผวนและความเสี่ยงพอสมควร ทำให้ในบางครั้งนักลงทุนอาจประสบกับภาวะ “ติดดอย” หรือการขาดทุนทางบัญชีที่เกิดจากการซื้อหุ้นมาในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดในปัจจุบัน ทำให้เกิดความกังวลและไม่สบายใจ ยิ่งในวัยหลังเกษียณอายุที่ไม่มีรายได้จากการทำงานเข้ามาแล้ว การขาดทุนจากการลงทุนก็อาจนำมาซึ่งความกังวล
นอนไม่หลับ ก่อให้เกิดความเครียดได้ง่าย
เมื่อ “ติดดอย” แล้วนักลงทุนตัดสินใจขายหุ้นเพื่อหยุดขาดทุน ก็จะทำให้เกิดการสูญเสียเงินต้น และทำให้ความมั่งคั่งลดลง ดังนั้น ในวัยหลังเกษียณหรืออายุ 60 ปีขึ้นไป ก่อนจะเริ่มซื้อหุ้น ควรสำรวจและประเมินความเสี่ยงของตนเองในเบื้องต้นก่อน ดังนี้
- สถานภาพทางการเงินในปัจจุบันเป็นอย่างไร ก่อนซื้อหุ้น ควรมั่นใจว่ามีเงินออมหรือเงินลงทุนเพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุแล้ว หรืออย่างน้อยควรมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน
- ระยะเวลาที่คาดว่าจะไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนในหุ้นก้อนนี้ เพราะในการลงทุนนั้นต้องใช้ระยะเวลาที่นานเพื่อให้ผลตอบแทนในการลงทุนงอกเงย หากจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วนก็อาจทำให้ต้องยอมขายหุ้นในราคาต่ำกว่าที่คาดหวังและขาดทุนจากการลงทุนได้
- วัตถุประสงค์หลักในการลงทุนคืออะไร เพื่อดูว่าต้องการบรรลุเป้าหมายจากการลงทุนแบบใด เช่น
• หากเน้นเงินต้นต้องปลอดภัย ควรซื้อหุ้นในสัดส่วนที่น้อย แต่ก็จะได้รับผลตอบแทนต่ำ
• หากเน้นโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ แต่ยอมเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินต้นได้บ้าง ควรซื้อหุ้นในสัดส่วนปานกลาง
• หากเน้นผลตอบแทนสูงสุดในระยะยาว และยอมเสี่ยงที่จะสูญเงินต้นส่วนใหญ่ได้ ก็สามารถซื้อหุ้นได้มาก
- ถ้าเลือกลงทุนในหุ้นที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนมาก แต่ก็มีโอกาสขาดทุนสูงด้วยเช่นกัน จะรู้สึกอย่างไร หากรู้สึกกังวลและตื่นตระหนกกลัวขาดทุน ก็ควรหลีกเลี่ยงที่จะซื้อหุ้นด้วยจำนวนเงินที่สูง
- จะรู้สึกกังวลหรือรับไม่ได้เมื่อหุ้นปรับตัวลดลงในสัดส่วนเท่าใด ข้อนี้สำคัญมากเพราะในการลงทุนนั้นมีความเสี่ยงที่ราคาหุ้นจะปรับตัวลดลง และบางครั้งก็มีโอกาสที่จะลงได้ถึง 30% ภายในวันเดียวหรือติดฟลอร์ ดังนั้น จึงต้องพิจารณาว่าตนเองจะเริ่มกังวลเมื่อหุ้นตกลงไปกี่เปอร์เซ็น ถ้าเปอร์เซ็นยิ่งน้อยก็แสดงว่ายิ่งรับความเสี่ยงได้ต่ำ
- เมื่อพบว่ามูลค่าเงินลงทุนในหุ้นลดลงจาก 100,000 บาท เหลือ 85,000 บาท จะทำอย่างไร เพื่อดูว่าตนเองมีการตอบสนองอย่างไรเมื่อมีผลขาดทุนเกิดขึ้น เช่น
• ตกใจและต้องการขายหุ้นที่เหลือทิ้ง แสดงว่ารับความเสี่ยงได้น้อย
• กังวลใจและจะปรับเปลี่ยนการลงทุนบางส่วนไปในทรัพย์สินที่เสี่ยงน้อยลง แสดงว่ารับความเสี่ยงได้ปานกลาง
• อดทนถือต่อไปได้และรอหุ้นปรับตัวกลับมา แสดงว่ารับความเสี่ยงได้สูง ณัฐมลทิ้งท้าย