รู้ได้อย่างไร เมื่อไหร่ควรจะขายหุ้น?
นักลงทุนบางคน “ซื้อ” หุ้นเป็น และได้ราคาที่ดี แต่เมื่อถึงเวลา “ขาย” กลับล้มเหลว ทั้งๆ ที่การซื้อและขายหุ้นอย่างเหมาะสม เป็นวิธีการทำกำไรที่สำคัญสำหรับนักลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นจากส่วนเกินราคา (Capital Gain) แต่ที่ผ่านมายังได้ยินประโยค “จะขายหุ้นเมื่อไหร่ดีนะ” อยู่บ่อยๆ สะท้อนให้เห็นว่ายังมีนักลงทุนที่เก่งแค่
“ซื้อ” แต่ตอน “ขาย” กลับไม่สามารถหาราคาที่เหมาะสมและจับจังหวะเวลาได้
ดังนั้น การขายหุ้นที่ดีต้องประกอบไปด้วย “ราคาและเวลาที่เหมาะสม” เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถเก็บรักษาผลกำไรและช่วยลดโอกาสการสูญเสียลงได้
มีปัจจัยน่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการ “ขาย” หุ้น นั่นคือ ถ้าไม่เกิดความโลภก็เกิดความไม่แน่ใจว่าเอาอย่างไรต่อกับหุ้นที่ถืออยู่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นที่เกิดมาจากอารมณ์ของนักลงทุน โดยที่ไม่ดูว่าปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริงของหุ้นนั้นๆ อยู่ที่ตรงไหน
ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนซื้อหุ้นที่ราคา 10 บาท แล้วมีเป้าหมายในใจเมื่อราคาปรับขึ้นอยู่ที่ 15 บาท จะ “ขาย” ทำกำไรทันที แต่พอถึงเวลาจริงๆ เมื่อราคาหุ้นที่ถืออยู่ขยับไปอยู่ที่ 15 บาท กลับตัดสินใจถือต่อ เพราะมองว่าราคาน่าจะวิ่งขึ้นไปอีก สมมติว่า อีกไม่กี่วันต่อมา หุ้นที่ถืออยู่นี้ ราคากลับปรับลดลงมาอยู่ที่ 7 บาท แน่นอนว่านักลงทุนคงไม่สบอารมณ์และผิดหวังกับหุ้นตัวดังกล่าว
สุดท้ายก็ต้องตัดใจ “ขาย” แล้วก็ขาดทุน
ในความจริงแล้ว แทนที่จะใช้อารมณ์ นักลงทุนควรใช้เหตุผลที่ดีในการตัดสินใจเมื่อถึงเวลาที่จะขาย แน่นอนอาจเป็นไปได้ว่าหุ้นอาจจะขยับไปถึง 15 บาท แต่กระบวนการของความโลภยังทำงานไม่หยุดหย่อน สุดท้ายนักลงทุนก็ต้องดูราคาหุ้นที่เคยคิดว่าจะขายปรับลดลงไป จนอาจถึงระดับขาดทุน
“ความโลภจึงเป็นภัยร้ายสำหรับการขายหุ้นให้ได้ประสิทธิภาพ”
เหตุผลที่นักลงทุนควรจะเริ่มคิดและตัดสินใจขายหุ้นที่ตนเองถืออยู่มีดังนี้
1.นักลงทุนควร “ขาย” เมื่อวิเคราะห์แล้วว่าปัจจัยพื้นฐานหุ้นนั้นๆ เริ่มมีอาการไม่ค่อยดี เช่น ผู้บริหารออกมายอมรับว่าผลประกอบการลดลง การแข่งขันรุนแรงขึ้นและมีโอกาสแพ้ หรือราคาหุ้นสูงขึ้นกว่ามูลค่าที่แท้จริง โดยไม่มีเหตุผลมารองรับ
แน่นอน การวิเคราะห์หุ้นต้องพึ่งพาการศึกษาข้อมูลด้วยตัวเอง และเมื่อดูละเอียดและประเมินว่าหุ้นที่ถืออยู่ควร “ขาย” ก็ต้องยอมรับกับความสูญเสีย เพราะผล “ขาดทุน” จากปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริง ไม่เสียใจเท่าจากการตัดสินใจผ่านอารมณ์
อย่าลืมว่าเมื่อไหร่ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางปัจจัยพื้นฐานอาจจะทำให้ราคาหุ้นปรับลดลงได้ซึ่งเป็นเรื่องที่ย่ำแย่สำหรับนักลงทุนที่ตัดสินใจขายไม่เป็น
2.นักลงทุนควร “ขาย” เมื่อราคาหุ้นวิ่งขึ้นอย่างรวดเร็วแบบไร้เหตุผล เพราะโดยธรรมชาติแล้วอะไรที่ขึ้นสูงๆ และรวดเร็ว เวลาตกจะเป็นไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน เผลอๆ ตกเร็วกว่าขึ้น เป็นไปได้ว่าเหตุที่ขายไม่เป็น เพราะไม่มีการวางแผนเกี่ยวกับการตัดขาดทุน หรือ Stop Loss ซึ่งว่ากันว่าขายหุ้นแล้วกำไรนั้นไม่ยาก แต่จะยากในกรณีซื้อแล้วเมื่อราคาหุ้นลดลงต่ำกว่า
ราคาที่ซื้อไม่ยอมขาย พูดง่ายๆ ขายขาดทุนไม่เป็น ดังนั้นเวลาลงทุนในหุ้นนักลงทุนจะต้องมีจุด Stop Loss ที่ตั้งเป้าไว้ทุกครั้ง
3.นักลงทุนควร “ขาย” เมื่อราคาหุ้นอยู่เหนือมูลค่าที่แท้จริง โดยมูลค่าหุ้นมีความสัมพันธ์โดยตรงกับกระแสเงินสดของบริษัท แน่นอนการประเมินหุ้นในอนาคต ไม่มีอะไรถูกต้องแม่นยำ 100% ด้วยเหตุนี้นักลงทุนจึงต้องลงทุนด้วยกลยุทธ์ Margin of Safety หมายความว่า การลงทุนด้วยการดูที่มูลค่าที่แท้จริงของบริษัทนั้นๆ ว่ามีค่าเป็นเท่าไรต่อหุ้น หากสามารถ
ซื้อหุ้นได้ถูกกว่ามูลค่าค่าที่แท้จริง ย่อมมีความปลอดภัยมากขึ้น ศึกษาข้อมูลเพิมเติมสำหรับนักลงทุนใหม่ครับ