ดอกเบี้ยขยับ ต้องปรับพอร์ตตราสารหนี้
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา นักลงทุนในตราสารหนี้ต่างมีความสุขกับผลตอบแทนที่ได้รับ เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่อง โดยต้นปีที่ผ่านมา เงินทุนไหลเข้ามาราว 5 หมื่นล้านบาท ทำให้ยอดถือครองของนักลงทุนต่างชาติสูงถึง 9.3 แสนล้านบาท
แต่แล้วหลังจากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาประกาศว่าจะเริ่มทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็ได้ทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความกังวลต่อความผันผวนของตลาดตราสารหนี้ และเริ่มทยอยขายออกอย่างต่อเนื่องเพื่อนำเงินกลับไปลงทุนในตลาดสหรัฐอเมริกา
ภายหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 1.50 – 1.75% เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) อายุ 10 ปีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ที่ระดับใกล้เคียง 3% สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะเดียวกันซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2.5%
ถ้าดูจากตัวเลขที่ปรากฏ ดูเหมือนว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ของสหรัฐฯ น่าสนใจมากกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ของไทย จึงทำให้เกิดแรงขายในตราสารหนี้ของไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งสอดคล้องกับ Bond Yield อายุ 10 ปี ของไทยที่เพิ่มขึ้นสู่จุดที่มากกว่า 2.5% ในรอบ 9 เดือน และ Bond Yield อายุ 2 ปี ที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.8% ใกล้เคียงกับช่วงปลายปี 2016
ที่ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังคงตัวที่ 1.5%
ด้วยแรงขายตราสารหนี้ของไทยที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ทั้งระยะสั้นและระยะยาวโดยตรง เนื่องจากความสัมพันธ์ของอัตราดอกเบี้ยกับราคาของตราสารหนี้จะเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม เพราะฉะนั้นราคาของตราสารหนี้จะลดลงเมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ทำให้มูลค่าของกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ปรับลดลงเมื่อ Mark-to-market
หรือการประเมินมูลค่าเมื่อสิ้นวันทำการ
ณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ CFP® Wealth Manager ธนาคารทิสโก้ อธิบายว่าถ้าพิจารณาให้ดีผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจไม่ร้ายแรงอย่างที่คิด เนื่องจากผลตอบแทนของการลงทุนจะต้องคำนึงถึงเงินเฟ้อด้วย เพื่อสะท้อนอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Yield) จากการลงทุน
นั่นคือ Real Yield มักจะเท่ากับส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยแบบทั่วไป (Nominal Yield) ซึ่งก็คืออัตราดอกเบี้ยที่ได้รับจากการลงทุน ลบด้วยอัตราเงินเฟ้อของสกุลเงินในตราสารนั้นๆ เช่น Bond Yield 10 ปี ของพันธบัตรสหรัฐฯ คือ 2.9% หากหักด้วยอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันที่ 2.4% จะได้ Real Yield เพียง 0.5% ขณะที่ Bond Yield 10 ปี ของพันธบัตรไทย
คือ 2.5% เมื่อหักด้วยอัตราเงินเฟ้อของไทย 1.07% จะได้ Real Yield เท่ากับ 1.43%
“ดังนั้น หากคำนึงถึงผลตอบแทนที่แท้จริง ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ไทยยังคงน่าสนใจอยู่เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา” ณัฐกฤติ กล่าว
ปัจจัยที่ทำให้ Bond Yield ปรับขึ้น ณัฐกฤติกล่าวว่ามาจากอัตราเงินเฟ้อเริ่มขยับขึ้น ส่งผลให้ธนาคารกลางต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาพรวมให้ขยายตัวต่อเนื่องและอยู่ในระยะยาวได้
“ถ้าดูภาวะตลาดดอกเบี้ยในต่างประเทศจะเห็นว่ามีแนวโน้มเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจน นำโดยสหรัฐอเมริกา และปีนี้คาดว่าจะปรับขึ้นอย่างน้อย 3 ครั้ง ทำให้นักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ เพราะ Bond Yield เป็นตัวหนึ่งที่สะท้อนต้นทุนของผู้ประกอบการ เมื่อดอกเบี้ยอยู่ในขาขึ้น ต้นทุนจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะผลักภาระไปให้ผู้บริโภคได้หรือไม่
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกา ขยับเข้าสู่ระดับ 2% ทำให้เฟดก็ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรของสหรัฐอเมริกาขยับขึ้น” ณัฐกฤติ อธิบาย
อีกปัจจัยก็คือ Demand และ Supply ของตลาดตราสารหนี้ ซึ่ง Demand มาจากฝั่งของนักลงทุนที่ต้องการเข้าลงทุน เพื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำ หรือต้องการพักเงินทุนในกรณีตลาดหุ้นที่มีความไม่แน่นอนในการลงทุน ส่วน Supply ของตราสารหนี้ ส่วนใหญ่ก็มาจากภาครัฐที่ออกตราสารทางการเงิน โดยล่าสุดกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกาได้เปิดประมูลพันธบัตรรวมมูลค่าสูงถึง
2.58 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
มีคำถามว่า Bond Yield ปรับขึ้นระดับไหนที่ต้องระวัง หากดูเฉพาะ Bond Yield ของสหรัฐอเมริกา หากปรับขึ้นสูงกว่าระดับ 3% ถือเป็นจุดทางเทคนิคที่จะเปลี่ยนแนวโน้มเป็นขาขึ้น ซึ่งช่วงหลายปีที่ผ่านมาผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนจำนวนมากไหลเข้าสู่ตลาดหุ้น ทำให้ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แต่ปัจจุบันแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่มีทิศทางอยู่ในขาลงมากว่า 30 ปีจะเริ่มกลับเป็นขาขึ้น และในแง่ของปัจจัยพื้นฐาน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้นย่อมหมายถึงต้นทุนกู้ยืมที่สูงขึ้นทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ส่งผลต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม
เพราะตามทฤษฎีการเงิน ดอกเบี้ยหรือ Bond Yield ในตลาดถือเป็นตัวแปรหนึ่งที่สำคัญซึ่งต้องใช้ในการคำนวณอัตราคิดลดหรือ Discount Rate เพื่อนำไปใช้คำนวณมูลค่าเหมาะสมของสินทรัพย์ทางการเงินทุกชนิด โดย Discount Rate ที่สูงขึ้นจะส่งผลให้มูลค่าเหมาะสมของสินทรัพย์ลดลง
สรุปก็คือ Bond Yield ที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกดดันให้ค่า P/E Ratio ที่เหมาะสมของตลาดหุ้นลดลง ซึ่ง P/E Ratio ของตลาดจะถูกกดดันมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของ Bond Yield ของสหรัฐอเมริกา
ณัฐพร ธรวงศ์ธวัช ที่ปรึกษาการลงทุน ทิสโก้ เวลธ์ อธิบายว่า เนื่องจากนักลงทุนมักเปรียบเทียบผลตอบแทนและความเสี่ยงระหว่างสินทรัพย์ทั้งสอง เช่น หากพันธบัตรรัฐบาลให้ผลตอบแทน 5% ต่อปี ตลาดหุ้นที่มีความเสี่ยงมากกว่าจะต้องให้ผลตอบแทนที่มากกว่า 5% ต่อปี เพื่อดึงดูดความสนใจจากนักลงทุน สำหรับผลตอบแทนของพันธบัตร ตลาดมักใช้ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีเป็นเกณฑ์
ส่วนผลตอบแทนของหุ้นมักดูจากอัตราผลตอบแทน (Earnings Yield) ซึ่งคิดจากกำไรต่อราคาหุ้น (EPS) หารด้วยราคาต่อหุ้น ซึ่งสะท้อนว่าจะได้รับผลตอบแทนเท่าไหร่หากเข้าลงทุนในหุ้น ณ ราคาปัจจุบัน ซึ่งส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนพันธบัตรกับผลตอบแทนหุ้นคือ ค่า Risk Premium ของหุ้น หรือเรียกอีกอย่างว่า Earnings Yield Gap
ปัจจุบัน ตลาดให้ความสำคัญกับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอายุ 10 ปี มาก เนื่องจากที่ผ่านมามีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอเมริกาอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นสู่ระดับ 2.9% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2557 ในขณะที่ S&P500 มี Forward P/E ที่ 18 เท่า คิดเป็น Earnings Yield ประมาณ 5% ทำให้ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนของหุ้นกับพันธบัตร (Earnings Yield Gap) อยู่ที่ 2.3% หมายความว่า หุ้นให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตร 2.3% ซึ่งหากเทียบกับความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นแล้วถือว่าต่ำมากและเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบกว่า 10 ปี
หากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอายุ 10 ปี ปรับขึ้นไปเรื่อยๆ นั่นหมายความว่า Earnings Yield Gap ระหว่างหุ้นกับพันธบัตรสหรัฐอเมริกาจะยิ่งน้อยลงไปอีก และเป็นความเสี่ยงให้ราคาหุ้นปรับตัวลงได้
“หากผลตอบแทนจากพันธบัตรปรับตัวขึ้นเร็วและแรงเกินไป อาจทำให้ตลาดหุ้นปรับลงแรงได้ เช่นกัน” ณัฐพร บอก
กลยุทธ์ลงทุน
เมื่อเงินไหลออกจากตลาดตราสารหนี้จะทำให้ Bond Yield ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และราคาของพันธบัตรปรับตัวลดลง ดังนั้น การลงทุนในสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ต้องพยายามหาตราสารหนี้ที่มีระยะเวลากำหนดไถ่ถอนที่สั้น เพื่อให้สามารถลงทุนตราสารหนี้ตัวใหม่ได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ตราสารหนี้ที่มีอายุสั้นจะได้รับผลขาดทุนด้านราคาน้อยกว่าตราสารหนี้ระยะยาว “นักลงทุนควรเลือกตราสารหนี้ที่จ่ายคูปองหรือดอกเบี้ยในระดับสูง เนื่องจากตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยสูงจะชดเชยการขาดทุนจากส่วนต่างราคาได้ดีกว่าแล้ว” ณัฐกฤติ กล่าว
แต่สิ่งที่นักลงทุนต้องระมัดระวังก็คือ ตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ (Non-investment grade) ซึ่งถึงแม้จะให้ดอกเบี้ยสูงแต่ก็มีโอกาสที่บริษัทจะผิดนัดชำระหนี้ นักลงทุนต้องเสาะหาตราสารหนี้ที่ให้คูปองสูงและมีความน่าเชื่อถือในระดับที่ลงทุนได้
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในตราสารหนี้ของไทยนับจากนี้ ณัฐกฤติแนะนำว่าเพื่อป้องกันการ Mark-to-market แล้วขาดทุนจะต้องลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว (Duration เฉลี่ยมากกว่า 2 ปี) และเพิ่มตราสารหนี้ระยะสั้น (Duration เฉลี่ยน้อยกว่า 2 ปี) ให้มากขึ้น
“เพราะถึงแม้อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับต่อปีจะน้อยกว่า แต่ก็ช่วยลดความเสี่ยงจากการ Mark-to-market ได้”
สำหรับการลงทุนตราสารหนี้โดยตรง จะต้องใช้เงินขั้นต่ำในการซื้อต่อครั้งที่ 1 แสนบาท (คิดจาก 100 หน่วย หน่วยละ 1,000 บาท) หมายความว่า นักลงทุนต้องใช้เงินลงทุนแต่ละครั้งค่อนข้างสูง
ทางออกก็คือ การลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ ซึ่งใช้เงินลงทุนแต่ละครั้งต่ำมาก โดยณัฐกฤติแนะนำเลือกกองทุนที่ Duration ไม่เกิน 2 ปี หรือเป็นกองทุนตราสารหนี้ที่มีการบริหารในเชิงรุกมากขึ้น เพื่อให้ผู้จัดการกองทุนสามารถปรับเปลี่ยน Duration ได้ทุกสถานการณ์
“ต้องเลือกลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่อาศัยความชำนาญของผู้จัดการกองทุนในการปรับเปลี่ยนพอร์ตให้เข้ากับสถานการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้น ถ้าตราสารหนี้ที่ถือครองอยู่แล้วมีความมั่นคงพอก็อาจจะถือครองจนถึงครบกำหนดอายุ (Maturity) จนได้ดอกเบี้ยมาชดเชยผลการขาดทุนก็ได้ ” ณัฐมล ทิ้งท้าย