กองทุนรวมตราสารหนี้ กับโอกาสการลงทุน
จากสถานการณ์ความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก ส่งผลให้ตลาดตราสารหนี้ได้รับผลกระทบด้วย อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2563 มีมาตรการเสริมสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ เพื่อให้ตลาดกลับมาทำงานได้อย่างปกติ
หนึ่งในสามมาตรการ คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดตั้งกลไกพิเศษเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่กองทุนรวมผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยธนาคารพาณิชย์ที่เข้าซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) และกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิด (Daily Fixed Income Fund) ที่ถือสินทรัพย์คุณภาพดีแต่ได้รับผลกระทบจากการ
ที่ตลาดเงินขาดสภาพคล่อง สามารถนำหน่วยลงทุนดังกล่าวมาวางเป็นหลักประกันเพื่อขอสภาพคล่องจาก ธปท. ได้ โดยจะดำเนินการจนกว่าสถานการณ์ในตลาดการเงินจะเข้าสู่ภาวะปกติ
“หลังจากมาตรการดังกล่าวออกมา พบว่าในช่วงวันที่ 23 – 26 มีนาคมที่ผ่านมา ตลาดตราสารหนี้ไทยมียอดซื้อสุทธิจากบริษัทจัดการกองทุน (บลจ.) มากกว่า 17,000 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 26 มีนาคม 2563) บ่งชี้ได้ในเบื้องต้นว่ามาตรการส่งเสริมสภาพคล่องได้ผลในระดับหนึ่ง” วิน พรหมแพทย์, CFA ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.พรินซิเพิล กล่าว
มาตรการส่งเสริมสภาพคล่อง ส่งผลให้ตลาดตราสารหนี้มีการซื้อขายคล่องตัวขึ้น สังเกตได้จากยอดการซื้อตราสารหนี้สุทธิของ บลจ. ในช่วงวันที่ 30 มีนาคม – 1 เมษายน ที่ผ่านมา มีมากกว่า 30,000 ล้านบาท สะท้อนว่าตลาดตราสารหนี้เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ
ปัญหาการขาดสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง และมักคลี่คลายในระยะเวลาอันสั้น เมื่อใดที่ตลาดขาดสภาพคล่องจะทําให้เกิดโอกาสการลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพดีที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น (แปลว่า มีราคาถูกลง) และด้วยมาตรการที่ออกมา ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดและความกังวลของผู้ลงทุนได้พอสมควร บวกกับการ
เข้าสู่ไตรมาสใหม่ สภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้น่าจะเพิ่มมากขึ้น
“ตราสารหนี้มีปัญหา ณ วันนี้ เป็นปัญหาเรื่องสภาพคล่อง (Liquidity Risk) ไม่ใช่ปัญหาเรื่องเครดิต (Credit Risk) ซึ่งตลาดตราสารหนี้ในระยะสั้นๆ จะมีความคล่องตัวต่ำ ดังนั้น จะเกิดปัญหาเรื่องสภาพคล่องหากผู้ลงทุนไถ่ถอนหน่วยลงทุนกันเป็นจำนวนมากในเวลาเดียวกัน แต่ถ้าให้เวลานานพอก็จะทำให้ตลาดตราสารหนี้ค่อยๆ คลี่คลายลง” วิน อธิบาย
สอดคล้องกับที่ สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่าในช่วงที่มีความเสี่ยงหรือเกิดวิกฤติ สินทรัพย์เพื่อการลงทุนทุกประเภทย่อมเกิดความผันผวน “การที่ผู้ลงทุนขายกองทุนรวมตราสารหนี้ออกไป ไม่ได้หมายความว่าตราสารหนี้ไม่ดี แต่ต้องการเงินสดเนื่องจากความกังวลว่าจะเกิดวิกฤติ พูดง่ายๆ ตราสารหนี้ยังมีคุณภาพดีเหมือนเดิม
เพียงแต่คนต้องการถือเงินสดมากขึ้นเท่านั้น”
คำแนะนำ หากลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้อยู่แล้ว
วิน แนะนำว่าหากลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้อยู่แล้ว “ไม่ควรขายออกไป เพราะไม่ใช่ปัญหาจากคุณภาพของตราสารหนี้ เนื่องจากกองทุนรวมมีการลงทุนตราสารหนี้ที่มีคุณภาพ ดังนั้น สินทรัพย์การลงทุนที่ดี ไม่ควรขายเพราะตกใจ แต่ถ้าตกใจและขายออกไปก็มีโอกาสขายขาดทุน”
สุกิจ อธิบายว่าสินทรัพย์ประเภทพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้เอกชนระดับ Investment Grade เป็นตราสารหนี้ที่มีนักลงทุนต้องการลงทุนตลอดเวลา เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้, ประกันสังคม, กบข. หรือบริษัทประกันชีวิต เพราะนักลงทุนสถาบันเหล่านี้ เชื่อว่าเป็นตราสารหนี้ที่มีคุณภาพดี
“ตราสารหนี้ที่มีคุณภาพดีทั้งพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน เป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ และถ้าเชื่อว่าตราสารหนี้ที่ลงทุนมีความปลอดภัยในระยะยาว เพียงแต่วันนี้มีความผันผวน ราคาปรับลดลง ย่อมเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าลงทุน” สุกิจ แนะนำ
วิน แนะนำเพิ่มว่า ทางเลือกสำหรับผู้ที่ถือกองทุนรวมตราสารหนี้ คือ โยกมากองทุนรวมตลาดเงิน เพราะมีนโยบายลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกือบทั้งหมด “พันธบัตรรัฐบาล มีรัฐบาลค้ำประกัน 100% แปลว่า มีความมั่นคง”
คำแนะนำ สำหรับมือใหม่
ถ้าสนใจลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้ในช่วง COVID-19 วิน แนะนำว่า “ลงทุนได้เลย” เพราะจังหวะแบบนี้เป็นตลาดของผู้ซื้อ ซึ่งวิธีลงทุนที่น่าสนใจ คือ ทยอยลงทุนอย่างสม่ำเสมอ (Dollar Cost Average : DCA) เพราะกองทุนรวมได้ถูกออกแบบให้ลงทุนระยะยาวเพื่อสะสมเงินออมไว้ใช้หลังเกษียณ
“มือใหม่ อาจเริ่มต้นจากกองทุนรวมตลาดเงิน ที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้น อายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี เพราะมีความเสี่ยงต่ำ มีสภาพคล่องสูงและมีคุณภาพดี เช่น เงินฝาก พันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้เอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือดี และถ้ารับความเสี่ยงและต้องการผลตอบแทนเพิ่มขึ้นสูงกว่ากองทุนรวมตลาดเงิน แนะนำกองทุนรวมตรา
สารหนี้ทั่วไปที่เปิดให้ผู้ลงทุนซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนได้ทุกวันทำการ (Daily Fixed Income)” วิน แนะนำ
โดยปกติ ตราสารหนี้มีความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน ความผันผวนของราคาอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เช่น หุ้น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
“ตราสารหนี้ เป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนที่ดูแลเงินต้นของผู้ลงทุน ถือเป็นตัวช่วยประคองพอร์ตลงทุนโดยรวมในช่วงตลาดผันผวน ดังนั้น จึงควรกระจายความเสี่ยงในการลงทุนด้วยการจัดสรรสัดส่วนเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ตามความเหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของแต่ละคน”
สุกิจ อธิบายเพิ่มเติมว่า ตราสารหนี้ถือเป็นทางเลือกที่จำเป็นในการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง ที่สำคัญมีความเสี่ยงต่ำกว่าสินทรัพย์การลงทุนบางประเภท เช่น หุ้น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ “ในช่วงวิกฤติ ควรเน้นลงทุนตราสารหนี้ที่มีอายุสั้น เพื่อลดความผันผวนของอายุเฉลี่ยตราสารหนี้ (Duration) และเลือกลงทุนตราสารหนี้ที่มีคุณภาพดี นั่นคือ
ระดับ Investment Grade ขึ้นไป ที่สำคัญโดยปกติแล้วผู้จัดการกองทุนก็จะปรับพอร์ตของตราสารหนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์อยู่แล้ว ดังนั้น ผู้ลงทุนไม่ต้องกังวลว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ของตัวเองจะไม่ปลอดภัย”
หมายเหตุ: บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน ณัฐมลทิ้งท้าย