จัดพอร์ตหุ้นรับความผันผวน
การลงทุนหุ้นให้ประสบความสำเร็จ นอกจากจะต้อง “เลือกหุ้นถูกตัว” และ “ลงทุนในราคาที่ถูกต้อง” แล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การ “สร้างพอร์ตโฟลิโอ” ที่สมดุลทั้งความแข็งแรงและการเติบโต เปรียบเสมือนเราไม่อยากได้ทีมฟุตบอลที่มีแต่กองหน้าที่เก่ง แต่ยังต้องการกองหลังที่เข้มแข็งในขณะเดียวกัน
เพราะอะไรถึงต้องจัดพอร์ตหุ้น
ธุรกิจต่างๆ ในแต่ละวงจรเศรษฐกิจย่อมมีเวลาที่รุ่งเรืองและเวลาที่ยากลำบากสลับกันไป การที่นักลงทุนมีหุ้นหลากหลายย่อมทำให้สามารถเก็บเกี่ยวผลตอบแทนได้อย่างสม่ำเสมอ และหลายๆ ครั้งในตลาดหุ้นก็มีสิ่งที่ “ไม่คาดฝัน” เกิดขึ้น เช่น เหตุการณ์ที่ทำให้หุ้นที่ถืออยู่พื้นฐานเปลี่ยนพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ หรือเหตุการณ์ชั่วคราวที่ทำให้ราคาหุ้นตกลงอย่างรุนแรง
การสร้างพอร์ตหุ้นที่ดีจะช่วยทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีโดยมีความเสี่ยงที่น้อยกว่า เรียกได้ว่าพอร์ตหุ้นดี กินอิ่ม นอนหลับสบาย
หลักการจัดพอร์ตหุ้นที่ดี มีอะไรบ้าง
- พอร์ตหุ้น ควรมีการกระจาย “จำนวนหุ้น” ที่เหมาะสม
จำนวนหุ้นที่น้อยเกินไป แม้อาจเพิ่มโอกาสที่จะได้ผลตอบการลงทุนที่สูง แต่ก็เต็มไปด้วยความเสี่ยง ในทางกลับกันจำนวนหุ้นในพอร์ตที่มากเกินไป จะทำให้ไม่สามารถติดตามและดู “รายละเอียด” ของกิจการที่ลงทุนได้ครบถ้วน ดังนั้น สำหรับนักลงทุนทั่วไปการลงทุนในหุ้นจำนวนหุ้น 5 – 10 ตัว น่าจะเป็นจำนวนที่เหมาะสม ซึ่งไม่จำเป็นต้องกระจายเท่าๆ
กัน อาจมีหุ้นบางตัวที่มีสัดส่วนการลงทุนมากกว่าตัวอื่น แต่ควรจะกำหนด “สัดส่วนสูงสุด” ของหุ้นแต่ละตัวเอาไว้ เช่น ไม่เกิน 30% ของพอร์ต และรักษาวินัยอย่างเคร่งครัด โดยไม่ควร “ซื้อถัวเฉลี่ย” จนเพิ่มน้ำหนักหุ้นบางตัวมากเกินไป
- พอร์ตหุ้น ควรมีการกระจายตัวของ “อุตสาหกรรม” ที่เหมาะสม
บางครั้งนักลงทุนอาจถือหุ้นหลายตัว แต่ถ้าทุกตัวเป็นหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันย่อมทำให้มีความเสี่ยงสูง นักลงทุนควรกระจายการลงทุนไปในหลายๆ อุตสาหกรรม หรือในบางครั้ง หุ้นบางตัวแม้จะอยู่คนละอุตสาหกรรมกัน แต่ก็ต้องพิจารณาว่าได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกันหรือไม่ เช่น หุ้นสายการบิน อาจได้รับผลกระทบเหมือนกับหุ้นโรงแรม
เนื่องจากเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเหมือนกัน ในขณะที่ บางครั้งหุ้นประเภทเดียวกัน เช่น หุ้นค้าปลีกเหมือนกัน แต่ขายสินค้าคนละอย่าง ก็อาจถือว่าเป็นการกระจายอุตสาหกรรมได้
- พอร์ตหุ้น ควรจะมีการกระจาย “ลักษณะหุ้น” ที่เหมาะสม
นักลงทุนอาจจะชอบหุ้นปันผลจนมีหุ้นประเภทนี้อยู่แต่ในพอร์ต ทำให้การเติบโตของพอร์ตช้ากว่าที่ควรจะเป็นหรือมีแต่หุ้นเติบโตจนมีความผันผวนระหว่างทางมากเกินไป หรือมีแต่หุ้นขนาดเล็กที่สภาพคล่องน้อย เมื่อต้องการขายหุ้นก็ไม่สามารถทำได้ ดังนั้น นักลงทุนควรกระจายตัวลักษณะหุ้นให้หลากหลาย เช่น หุ้นใหญ่ผสมหุ้นเล็ก หุ้นเติบโตผสมหุ้นแข็งแกร่ง
เพราะหุ้นแต่ละลักษณะมีจุดแข็งจุดอ่อนที่แตกต่างกัน เมื่อมาอยู่รวมกันจะสามารถเสริมกันได้
- พอร์ตหุ้น ควรจะมีการ “ปรับสัดส่วน” ที่เหมาะสม
สิ่งที่ได้เปรียบสำหรับการมีพอร์ตหุ้น คือ สามารถ “ปรับพอร์ต” ได้ หากหุ้นบางตัวราคาขึ้นไปเกินพื้นฐานมากๆ อาจจะทยอยขาย แล้วนำเงินมาซื้อหุ้นตัวอื่นในพอร์ตที่ราคายังถูกกว่าพื้นฐาน แต่การสลับตัวหุ้นจะต้องมั่นใจว่าสลับไปซื้อหุ้นที่มี Upside สูงกว่า ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการเด็ดดอกไม้แล้วรดน้ำวัชพืช
- พอร์ตหุ้น ควรจะ “เหมาะสม” กับตัวเราเอง
พอร์ตที่ดีที่สุด นอกจากจะต้องใช้ศาสตร์ที่เป็นหลักการข้างต้นแล้ว ยังต้องใช้ศิลป์เพื่อปรับให้เหมาะกับตนเอง และปรับให้เป็นพอร์ตที่ “กลมกล่อม” นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อยย่อมมีพอร์ตหุ้นที่อนุรักษ์นิยมมากกว่านักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้มาก
การสร้างพอร์ตโฟลิโอที่ดี คือ การแบ่งงานให้หุ้นตัวละตัวทำหน้าที่ของมันให้ดีที่สุด เพื่อจุดหมายปลายทางคือ ผลตอบแทนที่คืนกลับให้เจ้าของอย่างคุ้มค่า ณัฐมล แนะนำ