จริงหรือไม่ กลัวความเสี่ยง ห้ามลงทุนอนุพันธ์
เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ หากถ้านักลงทุนเปิดตำราเกี่ยวกับการลงทุนอนุพันธ์ มักจะเห็นประโยคสำคัญว่า “ตลาดอนุพันธ์ ใช้ในการป้องกันความเสี่ยง” แต่ทุกวันนี้ก็มักได้ยินหลายคนที่หวังดีและเตือนว่า “ตลาดอนุพันธ์ เสี่ยงสูง อย่าลงทุนเลย”
ประเด็นนี้ เป็นเรื่องเดียวกัน แต่มีคำตอบที่แตกต่างกัน คำถาม คือ ประเด็นไหนเป็นคำตอบที่ถูกต้อง คำตอบคือ ถูกทั้งคู่ เพราะการลงทุนอนุพันธ์มีความเสี่ยง หรือใช้เพื่อลดความเสี่ยงได้เช่นเดียวกัน
การลงทุนอนุพันธ์มีคุณสมบัติ 2 ประการสำคัญ คือ ขยายอำนาจซื้อและทำกำไรในขาลง โดยด้านที่บอกว่าตลาดอนุพันธ์มีความเสี่ยง เกิดขึ้นจากการที่ใช้ประโยชน์จากการวางเงินประกันเพียงแค่ประมาณ 10% ทำให้เมื่อมูลค่าสินทรัพย์มีการเปลี่ยนแปลงไป กำไรขาดทุนที่เกิดขึ้นกับนักลงทุนจึงเปลี่ยนแปลงไปในสัดส่วนที่มากกว่าหลายเท่า
ถ้านักลงทุนใช้ประโยชน์จากการวางเงินประกันเพียงแค่ประมาณ 10% แล้วผลลัพธ์ออกมาเป็นกำไรคงมีความสุข ตรงกันข้ามถ้าผลลัพธ์เป็นขาดทุนก็มีโอกาสที่จะหมดตัวและออกจากตลาด
ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์เหล่านี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา จึงทำให้ “ตลาดอนุพันธ์ เสี่ยงสูง” กลายเป็นประโยคที่นักลงทุนมักพูดถึง
ทีนี้มามองในมุมการใช้ประโยชน์จากตลาดอนุพันธ์เพื่อลดความเสี่ยง โดยนักลงทุนจะใช้ประโยชน์ในการทำกำไรในช่วงตลาดเป็นขาลง เพราะเมื่อถือครองหุ้นไว้และประเมินว่าตลาดหุ้นจะปรับตัวลดลง ก็ลงทุนในตลาดอนุพันธ์ด้วยการ “เปิดสถานะขาย” (Short) และเมื่อตลาดหุ้นปรับตัวลดลงจริงก็ “ปิดสถานะ” เพื่อทำกำไรมาชดเชยพอร์ตหุ้นที่ขาดทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่สามารถเริ่มต้นด้วยเคล็ดลับง่ายๆ ดังนี้
- เริ่มต้นลงทุนจากการเปิดสถานะขาย (Short) เพราะเมื่อประเมินว่าตลาดหุ้นจะปรับลดลง ก็ให้ใช้ตลาดอนุพันธ์ในการทำกำไรเพื่อชดเชยผลขาดทุนจากหุ้น เพราะถึงแม้ว่าจะประเมินตลาดผิดทาง (ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้น) ก็ยังกำไรจากพอร์ตหุ้นที่ถือครอง
- ไม่ลงทุนเกินกว่ามูลค่าในพอร์ตหุ้น เช่น SET50 Index Futures 1 สัญญา มีมูลค่าประมาณ 200,000 บาท ดังนั้น หากมีพอร์ตหุ้นมูลค่า 1,000,000 บาท ก็ไม่ควรลงทุนตลาดอนุพันธ์เกิน 5 สัญญา
การลงทุนในอนุพันธ์ มีประโยชน์ทั้งการสร้างผลตอบแทนและการป้องกันความเสี่ยง ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนต้องถามตัวเองให้ชัดเจนว่าจะวางกลยุทธ์แบบไหน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการลงทุน การลงทุนมีความเสี่ยงควรคิดให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน