ตลาดหมี รอไปก่อน
รอยยิ้มและความมั่นใจจากการลงทุนยังไม่ทันจางหาย นักลงทุนก็ต้องกลับมาเผชิญกับความเสี่ยงจากการลงทุนอีกครั้ง เมื่อดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุผลหลักๆ จากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศคู่ค้าทั่วโลก และการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ โดยครึ่งปีแรกปีนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยถึง
1.79 แสนล้านบาท ทำให้ดัชนีลดลง 9% จากสิ้นปีที่ผ่านมา
จึงมีคำถามตามมาว่า ตลาดหุ้นไทยกำลังเข้าสู่ภาวะหมีหรือยัง
คำตอบก็คือ ให้ย้อนดูความเคลื่อนไหวดัชนีหุ้นด้วยการแยกช่วงตลาดขาขึ้น (ภาวะกระทิง) กับตลาดขาลง (ภาวะหมี) ออกจากกัน เพื่อทำความเข้าใจถึงผลกระทบในช่วงเวลานั้นๆ โดยคำนิยามที่นิยมใช้กันในตลาดหุ้นเข้าสู่ภาวะกระทิง ก็คือ ดัชนีหุ้นที่ปรับขึ้นจากจุดต่ำสุดทะลุ 20% เช่นเดียวกัน หากตลาดหุ้นปรับลดลงจากจุดสูงสุดทะลุ 20% หมายถึงตลาดหุ้นเข้าสู่ภาวะหมีแล้ว
“ต้นปีที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปิดสูงสุดประมาณ 1,850 จุด แล้วลดลงต่ำสุดประมาณ 1,590 จุด ก็ปรับลดลงราว 14% ยังไม่เรียกว่าเข้าสู่ภาวะหมี เป็นเพียงแค่การปรับฐานหรือ correction” ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าว
ไพบูลย์ ยกกรณีตัวอย่างวัฏจักรตลาดกระทิงและตลาดหมีของตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา โดยดูดัชนี S&P 500 ย้อนหลังไปในปี 1948 (หลังสงครามโลกครั้งที่ 2) จนถึงปี 2017 พบว่ามีรอบของตลาดกระทิงจำนวน 8 ครั้ง (อยู่ในภาวะกระทิงแต่ละรอบเฉลี่ย 91 เดือน ผลตอบแทนเฉลี่ยหรือ Total Return 227%) และมีรอบตลาดหมีจำนวน 7 ครั้ง (อยู่ในภาวะหมีแต่ละรอบเฉลี่ย
16 เดือน ผลตอบแทนติดลบเฉลี่ย 36 %)
ตั้งแต่ปี 1948 ถึงปี 1962 ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดกระทิงรอบใหญ่ที่สุดกินระยะเวลานานถึง 166 เดือน สร้างผลตอบแทนสูงถึง 414% สำหรับภาวะกระทิงรอบล่าสุดเริ่มตั้งแต่หลังวิกฤติซับไพร์มจนถึงปัจจุบัน ตลาดปรับขึ้นมาแล้ว 112 เดือน สร้างผลตอบแทน 277%
“ถึงแม้ในระหว่างทาง S&P500 ปรับลดลงบ้างแต่เป็นการปรับฐาน ดังนั้น ใครลงทุนในช่วงนี้จะได้กำไรเต็มๆ” ไพบูลย์ เล่า
สำหรับตลาดหุ้นเอเชีย ย้อนหลังไป 30 ปี ตั้งแต่ปี 1988 จนถึงปัจจุบัน อยู่ในภาวะกระทิงจำนวน 9 ครั้ง (อยู่ในภาวะกระทิงแต่ละรอบเฉลี่ย 29 เดือน ผลตอบแทนเฉลี่ย 115%) ตลาดหมีจำนวน 8 ครั้ง (อยู่ในภาวะหมีแต่ละรอบเฉลี่ย 12 เดือน ผลตอบแทนติดลบเฉลี่ย 40%)
“จะสังเกตได้ว่าตลาดหุ้นเอเชียเกิดภาวะกระทิงและภาวะหมีถี่มาก สะท้อนให้เห็นว่าเป็นตลาดที่มีความผันผวนมากเช่นเดียวกัน ซึ่งข้อดีก็คือ ทุกครั้งที่เกิดความผันผวน ตลาดจะปรับฐานตามไปด้วย ทำให้ไม่เกิดฟองสบู่ขนาดใหญ่แล้วระเบิดออกมา โดยปัจจุบันตลาดเอเชียอยู่ในรอบกระทิงแล้ว 28 เดือน” ไพบูลย์ กล่าว
มาถึงตลาดหุ้นไทย นับตั้งแต่ปี 1987 จนถึงปัจจุบันอยู่ในภาวะกระทิงจำนวน 12 ครั้ง (อยู่ในภาวะกระทิงแต่ละรอบเฉลี่ย 23 เดือน ผลตอบแทนเฉลี่ย 114%) และภาวะหมี 11 ครั้ง (อยู่ในภาวะหมีแต่ละรอบเฉลี่ย 9 เดือน ผลตอบแทนติดลบเฉลี่ย 41%)
จะสังเกตเห็นว่าช่วงเริ่มต้นของตลาดหุ้นไทยจะเกิดภาวะกระทิงและภาวะหมีบ่อยมาก บางเดือนตลาดปรับขึ้นทะลุ 30% และเดือนถัดมาก็ปรับลดลงหนักทะลุ 20% แต่เมื่อตลาดมีเสถียรภาพวัฏจักรตลาดก็กินเวลายาวนานมากขึ้น โดยเฉพาะหลังปี 2000 เป็นต้นมา ที่อยู่ในภาวะกระทิงนานเป็น 10 ปี แต่อยู่ในภาวะหมีประมาณ 1 ปี จากนั้นตลาดก็ปรับขึ้นได้อย่างน่าประทับใจ
“ปัจจุบันหุ้นไทยอยู่ในภาวะกระทิงมาตั้งแต่หลังวิกฤติซับไพร์ม กินเวลามาแล้ว 115 เดือน ให้ผลตอบแทนถึง 297%” ไพบูลย์ เล่า
ไพบูลย์ ตั้งข้อสังเกตว่าก่อนที่ตลาดหุ้นจะปรับลดลงและกลายเป็นภาวะหมีมักมีเหตุการณ์หรือวิกฤติสำคัญๆ ก่อน เช่น เหตุการณ์ Black Monday ที่เกิดขึ้นเมื่อ 19 ตุลาคม ปี 1987 วิกฤติเศรษฐกิจเอเชียปี 1997 หรือวิกฤติซับไพร์มปี 2008 เป็นต้น แต่หากมีปัจจัยลบเข้ามากระทบในระหว่างทาง ตลาดหุ้นจะปรับลดลงแต่อีกไม่นานก็สามารถปรับขึ้นต่อได้
“ตลาดหมีมีทั้งหมีตัวเล็กและหมีตัวใหญ่ ถ้าเป็นตัวเล็กก็ไม่ต้องกังวลเพราะอีกไม่นานตลาดจะปรับขึ้นได้ แต่ให้กังวลหมีตัวใหญ่” ไพบูลย์ บอก
“แล้วหมีตัวต่อไปจะเป็นตัวใหญ่หรือตัวเล็ก” ซึ่งก็ต้องดูปัจจัยหลักทางทฤษฎีที่ทำให้เกิดตลาดกระทิงและตลาดหมี
อัตราดอกเบี้ย: ในอดีตที่ผ่านมา การที่อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นไม่ได้บ่งบอกว่าตลาดหุ้นจะปรับลดลงและเข้าสู่ภาวะหมีเสมอไป เช่น ช่วงปี 2002 – 2007 เป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ตลาดหุ้นปรับขึ้นและอยู่ในภาวะกระทิง เช่นเดียวกัน ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาเริ่มปรับดอกเบี้ยขึ้น แต่ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกายังวิ่งเป็นกระทิง
“จึงฟันธงไม่ได้ว่า นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไปที่โลกอยู่ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นจะนำไปสู่ตลาดหมี” ไพบูลย์ ตั้งข้อสังเกต
ภาวะเศรษฐกิจ: มีผลกระทบต่อภาวะตลาดหุ้นค่อนข้างสูง โดยให้สังเกตว่าหากเศรษฐกิจถดถอยติดต่อกัน 2 ไตรมาส ช่วงนั้นตลาดหุ้นจะปรับลดลงและเข้าสู่ภาวะหมี ดังนั้น นักลงทุนต้องวิเคราะห์ว่าจากนี้ไปเศรษฐกิจไทยมีโอกาสถดถอยติดต่อกัน 2 ไตรมาสหรือไม่
ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน: เป็นปัจจัยที่มีผลโดยตรงต่อทิศทางตลาดหุ้น ถ้าช่วงไหนผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไม่เติบโตหรือถดถอย โอกาสที่ตลาดหุ้นจะปรับลดลงเข้าสู่ภาวะหมีมีสูงมาก แต่ช่วงไหนที่ผลประกอบการยังดีอยู่ ตลาดหุ้นก็มีโอกาสปรับลดลงได้แต่เป็นเพียงการปรับฐานในระยะสั้นๆ
โดยไตรมาสแรกปีนี้ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) มียอดขายรวม 2.83 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.61% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมีกำไรสุทธิรวม 2.86 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ระดับ 23.72% และมีอัตราหนี้สินต่อทุนลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 1.15 เท่า
เมื่อเทียบกับสิ้นปีที่ผ่านมาที่ 1.17 เท่า
เช่นเดียวกันกับผลการดำเนินงานบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ไตรมาสแรกปีนี้ มียอดขายรวม 44,212 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.72% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า กำไรสุทธิรวม 1,816 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ระดับ 21.96% อัตราหนี้สินต่อทุน 1.03 เท่า
Valuation: ความถูกแพงซึ่งวัดโดยค่า P/E Ratio เริ่มไม่ค่อยมีผลต่อตลาดหุ้น โดยเฉพาะ 15 ปีที่ผ่านมา P/E Ratio ตลาดหุ้นอยู่ในระดับไม่สูงจนเกินไป (นักลงทุนรับได้) ดังนั้น ถึงแม้ว่าจากนี้ไป P/E Ratio จะปรับขึ้นไปบ้าง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ตลาดหุ้นถดถอยและเข้าสู่ภาวะหมี โดย Forword P/E ของตลาดหุ้นไทย ณ สิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
อยู่ที่ระดับ 14.57 เท่า ขณะที่ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 16.24 เท่า โดยมีอัตราปันผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 3.23%
Fund Flow: ในอดีตที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าเม็ดเงินลงทุนต่างชาติมีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทย (โดยเฉพาะก่อนปี 2013) แต่ปัจจุบันอิทธิพลดังกล่าวปรับลดลงไปพอสมควร โดยหลังปี 2013 เงินไหลออกแต่ตลาดหุ้นไทยไม่ได้ปรับลดลงมาก ยิ่งปัจจุบันบางครั้งเงินไหลออก ตลาดกลับปรับขึ้น เพราะได้รับการสนับสนุนจากสภาพคล่องในประเทศที่อยู่ในระดับสูง
ตรงกันข้ามหากเงินไหลกลับจะมีผลอย่างมากต่อการปรับขึ้นของตลาดหุ้น
อัตราแลกเปลี่ยน: ถือว่ามีผลต่อตลาดหุ้นพอสมควร ถ้าช่วงไหนเงินบาทแข็งค่า ตลาดหุ้นจะดูดี ช่วงไหนเงินบาทอ่อนค่าลง ตลาดหุ้นจะปรับลดลง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูง ดุลการค้าเกินดุล เงินไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ ค่าเงินบาทจึงจะไม่อ่อนค่ามากจนเกินไป จึงลดโอกาสการเกิดตลาดหมีได้ระดับหนึ่ง นักลงทุนควรศึกษาก่อน