ใช้เงินซื้อความสุขให้ยาวนานขึ้นกว่าที่เคย
คำถามสำหรับหลายคน คือ “ เงินซื้อความสุขได้จริงหรือ”
คำตอบ คือ เงินซื้อความสุขได้จริง แต่ความสุขที่เกิดขึ้นจากการใช้เงินของแต่ละคนจะอยู่กับเจ้าของได้นานไม่เท่ากัน ในทางเศรษฐศาสตร์ อธิบายเรื่องนี้เปรียบเทียบพฤติกรรมของคนกับ ความสุขที่เกิดขึ้นจากการเดินบนสายพาน หรือที่นักเศรษฐศาสตร์รู้จักกันในชื่อ Hedonic Treadmill ซึ่งกล่าวถึงความคาดหวังของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น หรือคิดอย่างง่ายๆ คือ
ในสภาพแวดล้อมเดิมเราจะมีความสุขกับของที่มีอยู่น้อยลง เหมือนกับการเดินบนสายพานที่น่าเบื่อ แถมหากหยุดเดินเรากลับค่อยๆ ถอยหลังจนตกสายพานอีกต่างหาก
ตัวอย่างง่ายๆ ใกล้ตัวเช่น ครั้งหนึ่งเราเคยอยากมีเครื่องมือติดต่อสื่อสารกับเพื่อนแบบพกพา เช่น Pager เมื่อ 20 ปีก่อน แค่นั้นก็ทำให้รู้สึกว่าเท่ และสะดวกมากเวลานัดหมายกัน ผ่านมาไม่นาน เมื่อเราเห็นว่าสามารถนำโทรศัพท์พกพาขนาด 3 ก.ก. ไปไหนมาไหนได้ ความสุขที่ได้ตอบสนองความต้องการในการติดต่อสื่อสารของเราต่อ Pager เริ่มลดลง แล้วถามว่าทุกวัน
ถ้าเรายังใช้ โทรศัพท์ขนาด 3 ก.ก. พกไปไหนมาไหน ความสุขของวันวานในการได้ใช้โทรศัพท์เครื่องเดิมจะยังมากอยู่ไหม
คนมีมาก กับคนมีน้อย จะมีความแตกต่างกันในเรื่องความสุขจากการใช้เงินไหม
เรื่องความมีเงินมากหรือน้อย กับการคงความสุขจากการใช้เงินนั้นตอบได้ยาก แต่สามารถกล่าวได้ว่า… เงิน เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความสุขในระดับแรกๆ และจะสร้างความสุขได้มากสำหรับคนมีเงินน้อย แต่บอกไม่ได้ว่าเมื่อได้ใช้เงินไปแล้วความสุขนั้นจะอยู่นานกว่าหรือสั้นกว่ากัน
เราจะสร้างความสุขให้ยาวนานขึ้นได้อย่างไร
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า คนเราจะใช้เงินเพื่อตอบสนอง 2 อย่าง คือ ไม่ “Need” ก็ “Want” แต่การใช้เงินเพื่อตอบสนอง Want ดูเหมือนจะสร้างความสุขให้เรามากกว่า (การซื้อของไม่จำเป็นทำให้เรามีความสุขมากกว่า จึงมีคำว่า Shopping Therapy หรือการใช้จ่ายเพื่อบำบัด) ดังนั้น วันนี้จะขอกล่าวถึงแต่การสร้างความสุขให้ยาวนานขึ้นจากการใช้เงินเพื่อ
ตอบสนองความต้องการที่เกินกว่าความจำเป็น ซึ่งในที่นี้เราไม่ได้พูดถึงการใช้เงินซื้อเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม อาหาร หรือยารักษาโรคในภาวะปกติ แต่การใช้เงินเพื่อ 6 สิ่ง ต่อไปนี้อาจช่วยให้หลายคนมีความสุขที่ยาวนานขึ้นได้
ใช้เพื่อซื้อความสัมพันธ์กับครอบครัว เพื่อนฝูง หรือเพื่อเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับสังคม รายงานวิจัยหลายชิ้นระบุตรงกันว่า ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับครอบครัว เพื่อนฝูง เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ชีวิตมีความสุข ดังนั้น หากกำลังตัดสินใจเลือกซื้อ Plasma TV เพราะว่าจะเอาไว้นั่งดูฟุตบอลโลกที่บ้าน หรือเพราะว่า TV ลดราคา 10% อาจเอาเงินจำนวนเท่ากัน
นั้นเป็นค่าเดินทางไปเยี่ยมครอบครัวที่ต่างจังหวัด หรือเปลี่ยนใจไปเยี่ยมเพื่อนที่ได้ลูกน้อยคลอดใหม่ พร้อมของฝากเล็กๆ น้อยๆ หรือการไปร่วมงานเลี้ยงรุ่นเพื่อนสมัยมัธยม เป็นต้น
ซื้อเวลาแห่งความสุขคืนกลับมา ความสุขในครอบครัว หรือชีวิตของคุณในบางครั้งคือการได้มีเวลาที่เพิ่มขึ้น หากคุณกำลังเบื่อหน่ายกับการทะเลาะกันในครอบครัวเกี่ยวกับ หญ้ายาวในสนามหน้าบ้าน หรือ เกี่ยงกันล้างรถในวันหยุด และปัญหาเหล่านี้ทำให้เกิดปากเสียงในครอบครัวบ่อยๆ การใช้เงินแก้ปัญหาเหล่านี้บ้างในบางครั้ง เช่น จ้างเด็กในหมู่บ้านมาช่วยตัดหญ้า
หรือนำรถไปล้างที่ศูนย์ล้างรถ ก็ถือว่าเป็นการซื้อเวลาที่มีความสุขคืนกลับมา (แต่อย่าลืมว่ามีเวลาเพิ่มขึ้นแล้วก็ควรใช้เวลาที่มีเพิ่มขึ้นนี้ร่วมกันไม่ใช่ต่างคนต่างแยกย้ายกันไปทำเรื่องของตัวเอง)
ซื้อสุขภาพ สิ่งที่ช่วยให้อารมณ์ของคนเราดีขึ้น อย่างชัดเจนคือ การออกกำลังกาย ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินเพื่ออะไรก็ตามที่ทำให้คุณลุกออกจากโซฟาหน้าทีวี หรือลุกจากเตียงนอนในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ได้ แล้วไปออกกำลังกาย ถือว่าเข้าข่ายข้อนี้ทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น บางคนไปซื้อ Course โยคะร้อน บางคนซื้อเครื่องเกม wii play สำหรับเล่นในครอบครัว บางคนซื้อชุดว่ายน้ำใหม่ ฯลฯ
ซื้อความสนุก หาให้เจอว่าคุณสนุกกับการทำอะไร ท่องเที่ยว ดูหนัง ส่องนก เดินป่า ทดลองประดิษฐ์อะไรใหม่ๆ ในบ้าน ทำขนม ฯลฯ หลังจากนั้นก็อย่าลืมบรรจุความสนุกของคุณลงตารางประจำเดือน และกันเงินบางส่วนเอาไว้สำหรับความสนุกนั้นๆ ด้วย
ซื้ออิสระ ข้อนี้สำหรับใครที่เป็นหนี้มากๆ คงไม่ต้องบอกว่า ณ วันที่ปลอดหนี้นั้นมีความสุขขนาดไหน เมื่อเรามีอิสระในการใช้เงินของเราอย่างเต็มร้อย ไม่ต้องไปแบ่งเจ้าหนี้อีก ดังนั้น การชำระหนี้ให้หมดเร็วขึ้น ทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้น และยาวนานขึ้นได้แน่นอน
ซื้อความสุขให้คนอื่น วิธีที่จะสร้างความสุขให้ตัวเองได้ดีวิธีหนึ่งคือ การทำให้คนอื่นมีความสุข ดังนั้นพยายามคิดถึงวิธีที่จะช่วยให้เกิดความแตกต่างในชีวิตด้วยเงินของคุณ เช่น การซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดประชาชน การซื้ออาหารไปเลี้ยงเด็กๆ ความจริงข้อนี้ไม่จำกัดอยู่แค่คนด้อยโอกาสหรือมีโอกาส แต่การสร้างความสุขให้คนอื่นนั้นทำได้กับทุกคน เช่น
การให้ของขวัญกับตำรวจจราจรกลางสี่แยกไฟแดงร้อนๆ ในวันปีใหม่ การมอบขนมทำเองให้กับคุณพี่ รปภ. ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคุณมาตลอดทั้งปี หรือแม้แต่การทำความสะอาดที่สาธารณะ (ต้องใช้เงินเช่นกัน) เช่น ล้างหน้าบ้านให้สะอาด หรือทาสีห้องน้ำในวัดพร้อมซื้ออุปกรณ์ในห้องน้ำใหม่ เพื่อให้คนอื่นๆ ที่จะมาใช้ได้มีความสุข
สุดท้าย ความสุข ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เงินเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้คุณมีหรือไม่มีความสุข มีมากหรือมีน้อย มีอย่างยั่งยืนหรือมีเพียงชั่วคราว เงินเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ใช่ทุกสิ่ง สิ่งที่กล่าวถึงในบทความนี้เป็นเพียงแนวทางในการให้คุณบริหารการใช้จ่ายเงินควบคู่ไปกับการบริหารความสุขเท่านั้น เป็นความเชื่อที่ใช้ได้คือ เงินชื้อทุกอย่างได้