เทคนิคปฐมพยาบาลทางการเงินหลังภัยน้ำท่วม
วิกฤติมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปี 2554 นี้ นับเป็นภัยธรรมชาติที่รุนแรงและสร้างความเสียหายแก่ประเทศไทยเป็นอย่างมาก แม้ว่ามวลน้ำกว่าหมื่นล้านลูกบาศก์เมตรจะไหลลงสู่ทะเลไปแล้วแต่ก็ยังคงทิ้งร่องรอยความเสียหายไว้ให้ต้องฟื้นฟูหลังน้ำลดกันอีกสักพักใหญ่ การจะเผชิญกับน้ำที่ท่วมขังและผ่านพ้นวิกฤติที่เกิดขึ้นนี้ไปให้ได้ 2 ส. ที่ควรตระหนักถึง คือ
“ ส.สติ ” นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ อีก ส. หนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจำเป็นไม่แพ้กัน นั่นก็คือ
“ ส.สตางค์ ” เพราะตั้งแต่การเตรียมรับมือกับน้ำท่วมจนถึงการซ่อมแซมทรัพย์สินที่เสียหายหลังน้ำลด ก็ล้วนแล้วแต่จำเป็นจะต้องใช้ “สตางค์ก้อนใหญ่” ทั้งสิ้น เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ร่ำรวยล้นฟ้า เป็นมหาเศรษฐีคงจะต้องเกิดการบาดเจ็บทางการเงินกันบ้างไม่มากก็น้อย
ดังนั้น ลองมาดู “3 ขั้นตอน ปฐมพยาบาล ทางการเงินหลังภัยน้ำท่วม ” ที่จะช่วยรักษาอาการบาดเจ็บทางการเงินให้หายไปหรืออย่างน้อยก็ช่วยผ่อนหนักเป็นเบา ดังนี้
- ประเมินความเสียหายของทรัพย์สิน
1.1 สำรวจความเสียหายและประมาณการค่าใช้จ่าย
เริ่มต้นจาก “สำรวจทรัพย์สินที่ถูกน้ำท่วม” ว่ามีสิ่งใดบ้างที่เสียหายต้องซ่อมแซมและสิ่งใดที่ต้องซื้อใหม่มาทดแทน คำถามที่ตามมาคือ“จะต้องใช้เงินเท่าไหร่ ? ” ก็ต้องอาศัย “ การประเมินความเสียหายและประมาณการค่าใช้จ่าย” มาช่วยให้คำตอบ ซึ่งความเสียหายของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากันทำให้ “เงิน” ที่จะต้องใช้เพื่อฟื้นฟูซ่อมแซมก็ย่อมไม่เท่ากันตามไปด้วย
จากนั้น “ตรวจสอบการทำประกันภัยบ้านและรถยนต์” ว่าได้ทำไว้หรือไม่ ? หรือถ้าทำไว้ครอบคลุมความเสียหายจากน้ำท่วมมั้ย? เพื่อจะได้ทราบว่าคุณต้องจ่ายเงินเพื่อจัดการความเสียหายทั้งหมดเองหรือมีบริษัทประกันมารับผิดชอบแทนคุณ โดยการจะได้รับความคุ้มครองจากน้ำท่วมบ้านนั้น “ประกันอัคคีภัยบ้าน” ซึ่งเป็นประกันภัยหลักที่ทำไว้จะต้องมีการจ่ายเบี้ยประกันเพิ่มเติมครอบคลุม
“ภัยน้ำท่วม” สำหรับรถยนต์นั้นจะได้รับความคุ้มครองความเสียหายจากน้ำท่วมเฉพาะ “ประกันภัยรถยนต์กรมธรรม์ประเภท 1 หรือ ประกันชั้น 1 ” ไม่ว่าจะเป็นประกันชั้น 1 ปกติ หรือ ประกันชั้น 1 แบบประหยัดที่มีค่ารับผิดส่วนแรก ส่วนประกันประเภทอื่นๆ จะไม่ได้รับความคุ้มครอง
บ้าน : การสำรวจและประเมินค่าใช้จ่าย
รายการที่จะต้องสำรวจความเสียหาย ได้แก่ โครงสร้างอาคาร ระบบไฟฟ้า ระบบประปา กรอบอาคาร งานตกแต่งอาคารโดย ส่วนใหญ่ความเสียหายจะเกิดขึ้นกับ รั้ว กำแพง ประตู พื้น ผนัง หน้าต่าง เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมจะแตกต่างกันตามประเภทของงาน วัสดุที่เลือกใช้ และฝีมือ ของผู้รับเหมา
ตัวอย่างเช่น บ้านที่มีพื้นที่ใช้สอยที่ถูกน้ำท่วมไม่เกิน 100 ตารางเมตร น้ำท่วมสูงไม่เกิน 70 เซนติเมตร และโครงสร้างบ้านไม่ได้เกิดความเสียหาย จะมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบ้านประมาณ 5,000-50,000 บาท และหากเลือกใช้บริการทำความสะอาดบ้านจากมืออาชีพก็จะมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 6,000-10,000 บาท
รถยนต์ : การสำรวจและประเมินค่าใช้จ่าย
ความเสียหายและค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถยนต์จะขึ้นอยู่กับระดับน้ำที่ท่วม รวมถึง ยี่ห้อ รุ่น สภาพอายุ และระยะเวลา ที่รถจมอยู่ในน้ำ ดังนั้น การสำรวจความเสียหายจึงจะต้องตรวจเช็คก่อนว่าน้ำท่วมรถยนต์สูงถึงระดับใดเพื่อให้สามารถระบุได้ว่า มีอุปกรณ์ใดบ้างที่จะต้องทำการตรวจสอบสภาพการใช้งาน เช่น ถ้าน้ำท่วมถึงส่วนล่างหรือต่ำกว่าแผงหน้าปัด
ชิ้นส่วนที่มักจะเสียหาย ได้แก่ พรม เบาะ เครื่องเสียง กล่องรวมขั้วต่อ ระบบนำทาง เครื่องปรับอากาศ กล่องอีซียู (Electronic Control Unit ) น้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ และอุปกรณ์เครื่องยนต์
ตัวอย่างเช่น หากน้ำท่วมไม่มากแค่ถึงระดับพรมหรือเบาะนั่ง ค่าซ่อมจะอยู่ที่ประมาณหลักพันถึงหลักหมื่น แต่ถ้า น้ำท่วมถึงส่วนล่างหรือต่ำกว่าแผงหน้าปัด โดยไม่ได้ถอดขั้วแบตเตอรี่หรือถอดกล่องอีซียูที่ควบคุมการทำงานของเครื่องยนต์ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญและมีราคาสูงก็จะทำให้ค่าซ่อมขยับขึ้นไปสูงถึงหลักแสนบาท
1.2 จัดกลุ่มค่าใช้จ่ายเพื่อเรียงลำดับความสำคัญ
สิ่งที่แนะนำให้ทำก่อนเริ่มต้นจัดการความเสียหาย คือ “จัดกลุ่มค่าใช้จ่าย” และรวบรวมจำนวนค่าใช้จ่ายในแต่ละกลุ่ม เพื่อจะได้จัดสรรเงินที่มีอยู่ให้เหมาะสมเพราะหากเงินของคุณมีจำกัดจะได้ตัดรายการที่ไม่จำเป็นและไม่เร่งด่วนออกไป ก่อน โดยแบ่งค่าใช้จ่ายออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
- รายการที่จำเป็นและเร่งด่วน เพื่อให้บ้านของคุณสามารถกลับมาอยู่อาศัยได้เหมือนเดิมอย่างปลอดภัย ได้แก่ การทำความสะอาดบ้านหลังน้ำลด การซ่อมแซมฐานราก โครงสร้าง และตัวบ้าน การตรวจสอบและซ่อมแซมระบบไฟฟ้าและประปาให้ปลอดภัยต่อการใช้งาน
- รายการที่จำเป็นแต่ไม่เร่งด่วน คือสิ่งช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันต่างๆ เช่น การซ่อมแซมและซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่ การซ่อมรถยนต์ การปลูกและฟื้นฟูต้นไม้และสวนบริเวณบ้าน รวมถึงการปรับปรุงบ้านเพื่อป้องกันน้ำท่วม
- รายการที่ไม่จำเป็นและไม่เร่งด่วน จัดเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน และควรจัดสรรเงินไปใช้จัดการกับสิ่งที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันก่อน เช่น ของตกแต่งบ้าน
- รักษาอาการด้วย “เงิน.. เงิน.. เงิน..”
2.1 “ตรวจสอบสถานะการเงิน” เช็คความพร้อมของคุณ
เมื่อทราบจำนวนเงินที่ต้องการใช้แล้ว ลองมาเช็คกันหน่อยดีกว่า ว่า “สถานะการเงินของคุณ” พร้อมขนาดไหนที่จะจัดการกับความเสียหายที่เกิดขึ้น
อาการแค่นี้ “ชิล.. ชิล..” ถ้าคุณมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไม่น้อยกว่า 6 เดือน แถมยังมีเงินออมเก็บไว้ในทางเลือกการลงทุนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น กองทุนรวม หุ้น หรือ ทองคำ ก็ขอแสดงความยินดีที่น้ำท่วมไม่สามารถทำอะไรคุณได้ เพราะคุณสามารถจัดการกับความเสียหายได้โดยไม่ต้องพึ่งพาแหล่งเงินจากภายนอกเลย
อาการทรงๆ “พอจะเยียวยาไหว” ถ้าหากคุณนั้น พอจะมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเก็บเอาไว้บ้างสัก 1 – 2 เดือน และก็ยังพอจะมีเงินเหลือเก็บที่นำไปลงทุนไว้ใน กองทุนรวม หรือ หุ้น อยู่บ้าง ก็คงโล่งใจไปได้ระดับหนึ่งว่าน้ำท่วมคราวนี้ยังไม่ทำให้คุณ “บาดเจ็บเจียนตาย” แต่ถ้าเกิดความเสียหายมากก็อาจจะต้องพึ่งพาแหล่งเงินจากภายนอกอีกบางส่วน
อาการหนักขนาดนี้ ต้อง “ไอซียู” สถานเดียว ถ้าคุณไม่มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเลย แถมเงินฝากธนาคาร กองทุนรวม หรือ หุ้น ก็ไม่เคยจะมีเหมือนกับใครเขา ลำพังแค่เงินจะกินจะใช้แต่ละเดือนก็ลำบากแล้ว ขอบอกว่าอาการหนักขนาดนี้เห็นทีจะต้องเข็นเข้า “ห้องไอซียู” เพื่อมองหาแหล่งเงินจากภายนอกมาช่วยเยียวยาความเสียหายให้กับคุณ
- 2 รักษาอาการด้วย “แหล่งเงินของคุณเอง”
เงินที่นำมาใช้จัดการกับความเสียหายควรจะมาจากเงินออมของคุณและเงินชดเชยต่างๆ ที่คุณได้รับมากกว่าที่จะกู้จากแหล่งเงินภายนอก ลองมาดูกันสักนิดดีกว่าแหล่งเงินเหล่านี้มีอะไรบ้าง
“เงินออม” มีไว้ ไม่มีเดือดร้อน เพราะ “เงินออม” ถือเป็น “โอเอซิสทางการเงิน” ให้กับคุณยามแห้งแล้งขาดแคลนเงิน ไม่ว่าจะเป็น เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน หรือ เงินที่ออมไว้เพื่อเป้าหมายต่างๆ เช่น เงินออมเพื่อดาวน์รถใหม่ เงินออมเพื่อการเกษียณ แต่การนำเงินที่เก็บออมเพื่อเป้าหมายอื่นมาใช้ก็จะส่งผลกระทบให้อาจจะต้องลดขนาดของเป้าหมายหรือ
เลื่อนระยะเวลาการบรรลุเป้าหมายนั้นออกไป หากเงินสดหรือเงินในบัญชีเงินฝากที่มีอยู่ไม่เพียงพอ คุณยังสามารถเปลี่ยนเงินออมที่นำไปลงทุนไว้ในทางเลือกต่างๆ กลับมาเป็นเงินสด เช่น หุ้น หน่วยลงทุนในกองทุนรวม รวมไปถึงทรัพย์สินมีค่าอย่างเช่น ทองคำ และเครื่องประดับ โดยควรพิจารณาเปรียบเทียบมูลค่า ความคุ้มค่าและเงื่อนไขการลงทุนประกอบด้วย
อย่ามองข้าม “เงินช่วยเหลือจากภาครัฐ” อุทกภัยครั้งนี้ภาครัฐได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนใน 2 กรณี คือ 1. ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยจากกรณีเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ทำให้ไม่สามารถขนย้ายทรัพย์สินไปสู่ในที่ปลอดภัยได้ และ 2. ผู้ที่มีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันไม่น้อยกว่า 7 วัน โดยเงินช่วยเหลือมี 2 ส่วน ได้แก่ เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยครัวเรือน
ละ 5,000 บาท และ เงินช่วยเหลือ 1,500 บาท ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปี 2550
“สวัสดิการ” น่ะมีมั้ย สำหรับมนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย ถือว่าเป็นโชคดีที่นายจ้างหลายแห่งช่างใจดีให้ความช่วยเหลือแก่พนักงานในยามเดือดร้อนเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็น การจัดหาที่พักอาศัยให้ หรือ การให้สวัสดิการเบิกค่าที่พักอาศัย หรือสวัสดิการเงินกู้เพื่อซ่อมแซมบ้านแบบปลอดดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำ ดังนั้น อย่าลืมที่จะศึกษาเงื่อนไขของสวัสดิการ รวมทั้งการเบิกจ่าย
เหล่านี้ให้ละเอียดถี่ถ้วน ไม่เช่นนั้นแล้วอาจจะพลาดโอกาสการใช้สิทธิประโยชน์เหล่านี้ไปอย่างน่าเสียดาย
2.3 รักษาอาการด้วย “แหล่งเงินกู้จากภายนอก”
หากไม่มีเงินออมอยู่เลยหรือมีไม่เพียงพอ แหล่งเงินกู้จากภายนอกคงจะเป็น “คุณหมอ” ที่มาช่วยรักษาอาการของคุณ มาดูกันสักนิดว่ามีแหล่งเงินกู้ใดบ้างที่จะช่วยคุณได้ในยามเดือดร้อนแบบนี้
เงินกู้เพื่อซ่อมแซมบ้านจากประกันสังคม ผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคมสามารถยื่นขอกู้เงินเพื่อซ่อมแซมบ้านที่ถูกน้ำท่วมจาก “โครงการประกันสังคมเคียงข้างผู้ประกันตนต้านอุทกภัย” ในวงเงินไม่เกินรายละ 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.5% ต่อปี กำหนดชำระภายใน 2 ปี โดยสามารถยื่นกู้ได้ถึงวันที่ 30 เมษายน 2555
สินเชื่อจากสถาบันการเงิน มากมายหลายประเภทไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อเอนกประสงค์ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต หรือสินเชื่อรถแลกเงิน ซึ่งก็มีเงื่อนไขและรายละเอียดที่แตกต่างกันไปตามประเภทสินเชื่อและธนาคาร ตั้งแต่อัตราดอกเบี้ยแบบเลขตัวเดียวไปจนถึงเข้าขั้นตัวเลขสองหลัก ระยะเวลาการผ่อนชำระก็มีตั้งแต่ระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี
ไปจนถึงระยะยาว 15 ปี ซึ่งคุณควรพิจารณาเปรียบเทียบเงื่อนไขให้ดีก่อนว่าแบบใดที่เหมาะสำหรับคุณมากที่สุด
กู้ยืมเงินจากกรมธรรม์ประกันชีวิต คุณสามารถใช้สิทธิขอกู้เงินจากกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ทำไว้ได้โดยต้องเป็นกรมธรรม์ที่ยังมีผลบังคับและมีเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งจะสามารถกู้ยืมได้ไม่เกินจำนวนเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ที่มีอยู่ โดยเสียดอกเบี้ยแบบทบต้นในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในการคำนวณเบี้ยประกันภัยประมาณ 2% โดยเฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 6 – 8% ต่อปี
“ควรจะกู้เท่าไหร่ดี?” ลองคำนวณหา “จำนวนเงินที่ต้องการกู้” จากสมการนี้
จำนวนเงินที่ต้องการกู้ = ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมทรัพย์สินหรือซื้อทดแทนที่ประมาณการ
– (เงินชดเชยจากภาครัฐและสวัสดิการ + เงินออมและทรัพย์สินที่เปลี่ยนเป็นเงินสด)
การเลือกกู้ในจำนวนเงินที่สอดคล้องกับความสามารถในการผ่อนชำระหนี้เป็นสำคัญที่คุณต้องพิจารณาก่อนจะทำการกู้ โดยปกติภาระในการผ่อนชำระไม่ควรเกิน 35-45% ของรายได้รวมต่อเดือน แต่ในภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ที่จำเป็นจะต้องกู้และทำให้ภาระในการผ่อนชำระหนี้ก้อนใหม่เมื่อรวมกับภาระหนี้สินเดิมของคุณขยับสูงขึ้นไปถึง 50 – 60% ซึ่งคุณจำเป็นจะต้องรัดเข็มขัด
ด้วยการลดค่าใช้จ่ายผันแปรต่างๆ ลงเพื่อให้สามารถชำระหนี้คืนได้
[NPC4]
3 . ป้องกันการบาดเจ็บทางการเงินในอนาคต
3 .1 “ เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน”
“การมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน”เปรียบเสมือนการมี “ตู้ยาสามัญประจำบ้านทางเงิน” ติดบ้านเอาไว้ ที่ช่วยให้คุณสามารถหยิบฉวยมาใช้จัดการความเสียหายได้ทันที โดยปกติแล้วเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินที่เหมาะสมก็คือประมาณ 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน ซึ่งคุณควรจะเก็บออมเงินก้อนนี้ไว้ในทางเลือกที่ไม่มีความเสี่ยงหรือมีความเสี่ยงน้อยมากและมีสภาพคล่องสูงสามารถ
เบิกถอนได้ทันทีเมื่อต้องการใช้เงิน คนส่วนใหญ่จึงมักจะ เก็บเงินก้อนนี้ไว้ในบัญชีออมทรัพย์หรือกองทุนตลาดเงินที่สามารถเบิกถอนและรับเงินได้ในวันทำการถัดไป
คำแนะนำเพิ่มเติม สำหรับการเตรียมรับมือกับภัยพิบัตินั้น คุณอาจจะต้องพิจารณาจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในครั้งนี้ว่า เมื่อเปรียบเทียบกับเงินสำรองยามฉุกเฉิน 3-6 เท่าแล้วนั้น “น้อยเกินไปหรือไม่” ถ้าหากไม่เพียงพอควรจะพิจารณาเก็บ “เงินสำรองเพิ่มเติม” ไว้อีกก้อนหนึ่ง แต่เนื่องจากภัยพิบัติไม่ได้เกิดขึ้นกันบ่อยๆ คุณจึงอาจจะเลือกเก็บออมเงินก้อนนี้ไว้ในทางเลือกที่มี
ความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นอีกนิดแต่ก็ยังมีสภาพคล่องที่สูงอยู่เพื่อให้เงินก้อนนี้สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับเงินออมของคุณได้สูงขึ้น
3.2 “ประกันภัยบ้านและรถยนต์”
คุณสามารถฉีดวัคซีนป้องกันการบาดเจ็บทางการเงินได้ด้วยการทำประกันภัยบ้านและรถยนต์ ซึ่งค่าเบี้ยประกันภัยอัคคีภัย บ้านมีราคาค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับการประกันภัยประเภทอื่นและได้รับความคุ้มครองที่ครอบคลุมทั้ง สิ่งปลูกสร้าง (ไม่รวมรากฐาน) และทรัพย์สินภายในสิ่งปลูกสร้าง แถมปัจจุบันยังมี “ประกันภัยอัคคีภัยบ้านแบบประหยัด” ที่สามารถซื้อประกันคุ้มครอง
ภัยธรรมชาติเพิ่มเติม โดยจ่ายเบี้ยรวมแล้วไม่ถึง 1,0 00 บาท สำหรับการทำประกันภัยรถยนต์ “กรมธรรม์ประเภท 1 หรือ ประกันชั้น 1” จะได้รับความคุ้มครองความเสียหายจากน้ำท่วมทั้งในกรณีที่เสียหายแต่ไม่ถึงเสียหายสิ้นเชิง (Partial Loss) และเสียหายสิ้นเชิง (Total Loss) จนไม่อาจซ่อมให้อยู่สภาพเดิมได้
ถ้าคุณไม่ได้มีการทำประกันภัยบ้านหรือรถยนต์เอาไว้ หรือประกันที่ทำอยู่ไม่ครอบคลุมถึงภัยจากน้ำท่วม อาจจะถึงเวลา ที่ต้องมาชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบดูว่า จะเลือกรับความเสี่ยงภัยไว้เอง หรือ โอนความเสี่ยงภัยไปให้กับบริษัทประกันรับแทนคุณ แบบไหนคุ้มค่ากว่ากัน จะได้ไม่เกิดอาการ “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย” หากมีภัยพิบัติเกิดขึ้นอีกในอนาคต
หลังจากที่รักษาอาการบาดเจ็บทางการเงินจนกลับมาหายดีแล้ว ก็อย่าปล่อยให้บทเรียนจากภัยพิบัติครั้งนี้สูญหายไปพร้อมกับสายน้ำ คุณควรจะต้องมี “คู่มือเอาตัวรอดเมื่อเกิดภัยพิบัติ ( Survival Kits)” เตรียมพร้อมไว้ยามฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็น วิธีการป้องกันและรับมือกับภัยพิบัติ ข้อมูลสำหรับการขอความช่วยเหลือ รวมไปถึง การจัดเตรียมของกินของใช้ที่จำเป็นซึ่งควรแยกต่าง
หากจากที่ใช้ในชีวิตประจำวันปกติพร้อมทั้งหมั่นตรวจสอบวันหมดอายุและสภาพการใช้งานอยู่เสมอทุก 3 หรือ 6 เดือน เมื่อมีทั้ง “สติ” และ “สตางค์” เตรียมพร้อมไว้แบบนี้แล้ว ก็ไม่ต้องห่วงว่าภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตจะทำให้ “ความมั่นคงทางการเงิน” ของคุณสั่นคลอน แต่ทางที่ดีก็ขอภาวนาให้ภัยพิบัติใหญ่ครั้งนี้ เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายกับประเทศไทยของเรา น่าจะเป็
นสิ่งที่พวกเราคนไทยปรารถนามากที่สุด เป็นความรู้ที่น่าสนใจ อาจเกิดน้ำท่วมซ้ำอีก