ทุนสำรองของฉัน?
นิทานอิสปเรื่องมดกับตั๊กแตน เป็นนิทานสำหรับเด็กที่กล่าวถึงการวางแผนและการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งในนิทานคือฤดูหนาวอันแห้งแล้ง ไร้ซึ่งอาหารสำหรับสัตว์ต่างๆ เรื่องโดยย่อสำหรับผู้ที่ไม่เคยอ่านนิทานเรื่องนี้มีอยู่ว่า เจ้ามดขยันและรู้จักวางแผน เก็บตุนอาหารในฤดูร้อน ในขณะที่ตั๊กแตนเอาแต่มีความสุขกับฤดูร้อนอันแสนรื่นรมย์ มีอาหารอุดมสมบูรณ์
เมื่อยามฤดูหนาวมาถึง เจ้ามดมีอาหารประทังชีวิตแต่เจ้าตั๊กแตนนอนรอความตายเพราะรักสบายและขาดการวางแผนที่ดี
จากนิทานเด็กๆ เรื่องหนึ่งจะนำไปสู่ชีวิตจริงของพวกเราในวัยทำงานหาเช้ากินค่ำ มนุษย์เงินเดือน หรือแม้แต่เจ้าของกิจการได้อย่างไร บทความนี้จะกล่าวถึงปัจจัยที่ช่วยประทังชีวิตของเราทั้งในยามปกติและในยามฉุกเฉิน นั่นคือ “เงิน” แต่จะเป็นเงินที่เรียกว่า “ทุนสำรองของฉัน” พร้อมทั้งกล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องมี วิธีประเมินเพื่อกำหนดเป้าหมายทุนสำรองของแต่ละคน
และการจัดการทุนสำรองที่เหมาะสม
ทุนสำรองคงเป็นคำที่หลายคนคงจะพอผ่านหูมาบ้าง แต่ในทางการวางแผนการเงินส่วนบุคคล (Personal Financial Planning) เราจะใช้คำว่า “เงินทุนฉุกเฉิน” หรือ Emergency Funds คำแนะนำของนักวางแผนการเงินสำหรับคนทั่วไปเกี่ยวกับ “เงินทุนฉุกเฉิน” คือ หากคุณยังโสดไม่มีภาระเลี้ยงดูใคร คุณควรจะมีสำรองเงินทุนฉุกเฉินไว้ที่ประมาณ 3 เดือนของรายจ่ายประจำ
หรือหากคุณมีครอบครัวหรือภาระเลี้ยงดูอื่น คุณควรจะมีสำรองไว้ที่ประมาณ 6 ถึง 12 เดือนของรายจ่ายประจำ
มาถึงตรงนี้คงมีคำถามว่าเราจะมีไอ้เจ้าทุนสำรองส่วนตัวนี้ไว้เพื่ออะไร คำตอบคือ เมื่อใดก็ตามที่คุณตกงาน เจ็บป่วยระยะยาว หรือกิจการมีปัญหา ไม่สามารถสร้างรายได้ดังเช่นยามปกติ แต่คุณยังต้องมีรายจ่ายจำเป็นมากมายในชีวิตประจำวันที่ไม่สามารถพัก หรือค้างชำระได้ เช่น ค่าเช่า/ผ่อนบ้าน ค่าอาหาร ค่าผ่อนรถ หรือแม้แต่รายจ่ายที่ไม่ใช่เป็นประจำรายเดือน
แต่เป็นรายปีอย่างเช่น เบี้ยประกัน ค่าเทอมบุตร หรือเงินต่ออายุใบอนุญาตทางวิชาชีพ คุณควรจะต้องมีเงินสักก้อนหนึ่งไว้สำรองจ่ายสิ่งเหล่านี้ โดยไม่ต้องไปกู้หนี้ หรือขอสินเชื่อจากใครให้เสียดอกเบี้ย จำนวนเงินสำรองส่วนตัวที่กำหนดไว้ให้ก่อนหน้านี้ความจริงแล้วขึ้นอยู่กับว่าคุณประเมินว่าคุณจะกลับสู่สภาวะปกติได้ภายในระยะเวลาเท่าใด หากคุณคิดว่าจะหางานใหม่ได้ภายใน
3 เดือน ให้กันไว้ 3 เดือน หากคุณเป็นผู้บริหารอาจใช้เวลาในการหางานมากกว่าพนักงานปกติ ให้กันไว้เกินกว่านั้น ซึ่งแต่ละคนจะประเมินตัวเองและประมาณการสถานการณ์ฉุกเฉินของตนเองไม่เท่ากัน
หลังจากกำหนดยอดเงินทุนสำรองที่ควรจะมีแล้ว คุณควรจะจัดเก็บหรือสะสมเงินทุนสำรองส่วนตัวไว้ในที่ที่ง่ายต่อการนำมาใช้ในยามฉุกเฉิน ในที่นี้ใช้คำว่าง่ายแต่ไม่ได้หมายความว่าให้เก็บไว้ที่บ้านเฉยๆ แต่หมายถึงให้เก็บไว้ในรูปของการออมหรือลงทุนที่ง่ายต่อการไถ่ถอน แต่ยังมีผลตอบแทนงอกเงย ซึ่งในปัจจุบันอาจหมายถึงบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของสถาบันการเงิน
และสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งถึงแม้จะได้รับผลตอบแทนต่ำ แต่ต่ำย่อมดีกว่าไม่ได้เลยจริงหรือไม่?
สำหรับคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินสำรองฉุกเฉินส่วนบุคคลสำหรับผู้ที่ต้องการให้มีผลตอบแทนมากกว่าการฝากเงินออมทรัพย์ปกติสักหน่อย สามารถเลือกเก็บไว้ในบัญชีออมทรัพย์ปกติได้ส่วนหนึ่ง เช่น หากต้องมีเงินสำรองที่ 12 เดือน อาจเก็บครึ่งหนึ่งไว้ในบัญชีออมทรัพย์ 6 เดือน และเก็บไว้ในบัญชีฝากประจำ 6 เดือนอีกครึ่งหนึ่งเป็นต้น
สุดท้าย ในสภาวะเศรษฐกิจที่เสมือนว่าจะกำลังฟื้นตัวในปีเสือนี้คุณควรจะเริ่มสะสมทุนสำรองตามเป้าหมายที่มี แล้วคุณจะมีชีวิตที่ปลอดภัยไร้กังวนในยามฉุกเฉินได้ไม่ยาก อย่ารอให้อยู่ในช่วงข้าวยากหมากแพงหรือเกิดความไม่มั่นคงในอาชีพการงานเสียก่อนแล้วจึงเริ่มคิดถึงเงินก้อนนี้ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเลือกเป็นมดหรือตั๊กแตน และอย่าลืมว่าในยามฉุกเฉินนั้น
การจะมีเงินสำรองมากหรือน้อยไม่สำคัญ
เท่ากับว่าคุณมีหรือไม่ต่างหาก จริงไหม? หากทุกคนทำได้ก็จะเป็นการดีทีเดียวคับ