ทางเลือกการออมแบบใหม่สำหรับคอหวย
หวยคืออะไร
นิยามอย่างธรรมดาทั่วไป คือ เกมการเสี่ยงโชคชนิดสุ่มตัวเลข ที่มีรางวัลสูงเป็นแรงจูงใจสำหรับผู้เล่น และมีเงินรายได้ก้อนใหญ่เป็นแรงจูงใจสำหรับเจ้ามือ (กองสลาก) หรืออีกนัยหนึ่งอาจจะเรียกว่าหวย คือ ภาษีสำหรับคนที่ตกวิชาคณิตศาสตร์ที่ว่าด้วยความน่าจะเป็นก็สามารถพูดได้
หวยทำหน้าที่อะไร
ถ้าเรานำนิยามของหวยที่กล่าวถึงข้างต้นมารวมกันจะพบว่า หน้าที่ของหวยข้อหนึ่งคือจัดหารายได้ให้กับรัฐเพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมตามนโยบาย หรือเป็นสวัสดิการสังคม นอกเหนือจากการเก็บภาษีตามปกติ เช่นในสมัยโบราณในประเทศจีนก็ใช้เงินหวยในการสร้างกำแพงเมืองจีน หรือในอเมริกาใช้เงินหวยช่วยในการทำสงคราม
และอีกหน้าที่หนึ่งของหวยก็คงเพื่อความบันเทิงสำหรับคนเล่น ได้ลุ้น ได้เสี่ยงโชค เพื่อความสุขของสังคม (ทั้งที่ความจริงอีกด้านก็ก่อให้เกิดความทุกข์กับคนในสังคมเช่นกัน)
คนส่วนใหญ่ที่เป็นลูกค้าของธุรกิจการพนันที่เรียกว่าหวยนี้คือ คนชั้นกลางลงมาจนถึงคนรายได้น้อย ของสังคม เงินซื้อหวยต่อเดือนที่มีการทำสำรวจ และตัวเลขที่ได้จากงานวิจัยในช่วง 4-5 ปีหลังมานี้สามารถบอกได้ว่าอยู่ที่ราวเดือนละ 600 บาท (กรุณาอย่าคิดว่าตัวเลขนี้ถูกต้อง เพราะในความเป็นจริงไม่มีการลงทะเบียนคนเล่นหวยเราจึงไม่มีตัวเลขที่แท้จริง
ของรายจ่ายในการซื้อหวยของคนไทย) หรือปีละ 7,200 บาท เรียกว่าถ้าไม่ซื้อหวย และเก็บเงินสม่ำเสมอทุกเดือน สิ้นปีสามารถซื้อทองได้อย่างน้อย 1 สลึงชนิดมีเงินเหลือด้วยซ้ำ
ดังนั้น ประเด็นที่น่าสนใจที่หลายประเทศทั่วโลกได้ริเริ่มและทำกันมานานแล้วก็คือ การคิดค้นสิ่งที่เรียกว่า Price Linked Saving (PLS) หรือระบบการใช้รางวัลเพื่อสร้างแรงจูงใจในการออม ใครนึกไม่ออก สลากออมสินคือหนึ่งในสิ่งที่ว่านั้น
หลักการของ PLS คือ ทำให้มีความสนุกตื่นเต้นควบคู่ไปกับการออมเงิน โดย ผลิตภัณฑ์ PLS ที่มีการใช้อยู่ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิดด้วยกันคือ
แบบที่เป็นพันธบัตร * ลักษณะคือ ให้ประชาชนซื้อพันธบัตรเพื่อออมเงิน ยกตัวอย่างเช่น ราคาหน่วยละ 100 บาท เมื่อต้องการถอนเงินออกสามารถถอนออกได้ (แต่อาจไม่ได้ผลตอบแทนตามที่ระบุไว้หน้าพันธบัตร) โดยระหว่างการถือพันธบัตรจะได้สิทธิรับดอกเบี้ยพันธบัตร ผ่านการลุ้นรางวัลจากการจับสลากรายเดือน เช่นในประเทศอังกฤษลุ้นรางวัลทุกเดือน
หรือจับสลากรางวัลราย 6 เดือน เช่น ในรัสเซีย รางวัลใหญ่สุดจะมีสัดส่วนในการแจกน้อย เช่น Jackpot ของที่ประเทศอังกฤษอยู่ที่ 1 ล้านปอนด์ออกทุกเดือน แต่มีแค่รางวัลเดียว 1 แสนปอนด์ 4 ราววัล ส่วนรางวัลเล็ก 25 ปอนด์ มีทั้งหมด 1.6 ล้านรางวัล โดยราคาต่อหน่วยพันธบัตรอยู่ที่ 100 ปอนด์ จำกัดการซื้อไว้ที่ 30,000 ปอนด์ ซึ่งจากตัวอย่างในประเทศอังกฤษ
จะพบว่าการออมผ่านพันธบัตรแบบ PLS นี้ประสบความสำเร็จมากเพราะประชาชนชาวสหราชอาณาจักรกว่าครึ่งต่างมีพันธบัตรชนิดนี้กันทั้งสิ้น
แบบที่เป็นบัญชีเงินฝาก ให้ประชาชนฝากเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์อายุ 1 ปี (ครบอายุถอนเงินออก
พร้อมดอกเบี้ย หากไถ่ถอนก่อนครบ 1 ปี จะไม่ได้ดอกเบี้ย) โดยภายใน 1 ปี สามารถฝากเงินเพิ่มเข้าไปได้
ซึ่งทุกครั้งที่ฝากจะได้รับสิทธิลุ้นรางวัลรายเดือน ฝากมาก-ได้สิทธิมาก และจำนวนสิทธิลุ้นรางวัลจะสะสมเพิ่มขึ้นทุกเดือนเมื่อมีการฝากเพิ่มจนครบ 1 ปี จะได้ลุ้นรางวัล Jackpot ใหญ่ก่อนปิดบัญชี เช่น ตัวอย่าง
ในรัฐมิชิแกนสหรัฐอเมริกา สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ 8 แห่ง จะเปิดบัญชี 1 ปี ที่ยอดขั้นต่ำ 25 เหรียญสหรัฐ และได้รับสิทธิลุ้นรางวัลทุกๆ 25 เหรียญที่ฝากเพิ่มโดยจำกัดสิทธิในการออมไว้ที่ 10 ครั้งต่อเดือน รางวัลรายเดือนจะอยู่ที่ 125 – 1,000 เหรียญสหรัฐ และรางวัล Jackpot จะอยู่ที่ 1 แสนเหรียญสหรัฐ (มีรางวัลเดียว) ซึ่งผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยจะ
อยู่ที่ต่ำกว่าอัตราของตลาดเมื่อเทียบกับบัญชีเงินฝากประจำ 1 ปี
รายละเอียดเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากการมีรางวัลเป็นแรงจูงใจให้คนรายได้น้อยออมเงิน นั่นคือ “ความง่าย” และ “ความเท่าเทียม” ของการออม ง่ายในการเข้าถึง เช่น การซื้อพันธบัตรประเภทนี้ในอังกฤษสามารถทำได้ด้วยวิธีการซื้อผ่านธนาคาร ที่ทำการไปรษณีย์ ทางโทรศัพท์ และผ่านเว็บไซต์ ความง่ายที่สองคือ ความง่ายในการเก็บ เงิน 25 เหรียญ
หรือ 100 ปอนด์ ไม่ได้เป็นยอดที่สูงจนเกินไปที่จะเก็บ ส่วนการกำหนดยอดการออมของทั้งสองระบบ เช่น 100 – 30,000 ปอนด์ หรือ สิทธิในการฝากได้ 10 ครั้งต่อเดือนในสหรัฐฯ (ความจริงไม่กำหนดยอดในการฝาก แต่จะฝากมากแค่ไหนก็ได้สิทธิลุ้นรางวัลแค่ 10 สิทธิต่อเดือนเท่านั้น) เป็นการให้ความสำคัญกับ ความเท่าเทียมระหว่างคนมีกับคนจน
เพราะหากไม่มีการจำกัดสิทธิในการออมจะทำให้คนรวยมีโอกาสในการลุ้นรางวัลได้มากกว่าคนจน และสุดท้ายคนจนซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการออกแบบผลิตภัณฑ์การออมชนิดนี้จะค่อยๆ ถอยหนีออกไปและกลับไปเล่นหวยเหมือนเดิม
ประเทศไทยจะได้อะไรจากการรับรู้เรื่องนี้บ้าง
เรามีทางออกสำหรับสิ่งที่เรียกว่าอบายมุขเพิ่มขึ้นอีก 1 ทาง ไม่ใช่แค่การทำสิ่งผิดให้ถูกกฎหมาย แต่เป็นการส่งเสริมการออมให้ตรงกับพฤติกรรม
หากการออมในลักษณะนี้ สามารถดึงเงินมาจากหวยใต้ดินได้ จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบสถาบันการเงิน เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งก้อนใหญ่ที่สามารถนำไปปล่อยสินเชื่อ เพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ได้
เรามีสลากออมสินอยู่แล้ว ที่คล้ายกับ prize-linked saving คำถามคือ สลากออมสินยังขาดอะไร ทำไมถึงไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องหวยที่ถูกมองเป็นอบายมุขได้ คำตอบคือเรื่องของความยาก-ง่าย ในการออม คิดง่ายๆ ว่าคุณหาซื้อหวยใต้ดินได้ยากหรือง่ายกว่าสลากออมสิน
เราสามารถมี 2 สิ่งนี้ควบคู่กันไปได้ เช่น มี prize-linked saving ในทุกเดือน และมีหวยปกติ ออกเดือนเว้นเดือน หรือ เหลือออกแค่เดือนละครั้ง (หากเราเชื่อว่า PLS ดีกว่าหวย ก็ต้องลดแรงจูงใจในการซื้อหวยลง และเพิ่มแรงจูงใจในการออมผ่าน PLS )
วิธีการออกรางวัลหากเปลี่ยนจากการสุ่มตัวเลข 2 หลัก 3 หลัก และเลขรางวัลที่ 1 มาเป็นจับเอาตัวเลขหางตั๋วเงินฝากที่อยู่ในกระบะเหมือนจับไปรษณียบัตรบอลโลก จะพบว่ากลุ่มหวยใต้ดินจะไม่มีตัวเลขให้เอาไว้เล่นแบบสม่ำเสมออีกต่อไป เพราะเลขหางตั๋วสามารถออกแบบเป็นอย่างอื่นได้ไม่ต้องซ้ำแบบกัน
สุดท้าย หากย้อนกลับไปที่นิยามที่บอกว่า หวยคือภาษีคนตกวิชาคณิตศาสตร์ นั่นแปลว่าถ้าสอบตก ก็ต้องไปว่ากันด้วยเรื่องการสอน หรือการศึกษา ทั้งการใช้จ่าย ทางเลือกในการออมและลงทุน เหล่านี้ต้องเริ่มกันตั้งแต่เด็ก ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ และการเงินส่วนบุคคล ถูกสอนอย่างจริงๆ จังๆ กันในระดับไหน มีหรือไม่ ถ้าในระบบการศึกษายังไม่มี
เห็นทีคงต้องแนะนำให้เริ่มต้นที่บ้านก่อน
- พันธบัตร คือ ตราสารหนี้ หรือเอกสารแสดงการขอกู้เงินของผู้ออกตารสาร ให้ไว้แก่เจ้าหนี้หรือผู้ซื้อตราสาร โดยระบุมูลค่าของยอดเงินชำระคืนแก่เจ้าหนี้ไว้บนพันธบัตร เช่น พันธบัตรรัฐบาลหน่วยละ 1,000 บาท หากเราซื้อ 10 หน่วย ที่หน้าพันธบัตรจะระบุยอดที่ 10,000 บาท เมื่อครบอายุพันธบัตร ผู้ซื้อพันธบัตรในฐานะเจ้าหนี้จะได้รับชำระคืนเงินต้นตาม
ราคาที่หน้าพันธบัตรระบุไว้ 10,000 บาทถ้วน ทั้งนี้ผลตอบแทนของพันธบัตรสามารถมีในรูปของการขายลดราคา เช่นจากตัวอย่างเดิมผู้ออกพันธบัตรอาจกำหนดราคาขายต่อหน่วยไว้ที่ 980 บาท หรือ สามารถระบุการจ่ายผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย (ส่วนใหญ่กำหนดไว้ที่ปีละ 2 ครั้ง) เช่น ดอกเบี้ยจ่ายหน่วยละ 100 บาทต่อปี จนครบอายุพันธบัตร หรือเป็นพันธบัตร
ที่รวมทั้งสองแบบเข้าด้วยกัน แล้วแต่ใครจะชอบสำหรับนักลงทุน