3 เด้งเต็มแล้ว ต้องเอา 2 เด้ง
ครั้งที่แล้ว เราพูดกันถึงเรื่อง การลงทุนแบบ 3 เด้ง คือ การลงทุนที่เมื่อเราลงทุนแล้ว เด้งแรกที่ได้รับ คือ จะมีคนอื่นให้เงินเราเพิ่มอีกเท่าตัว เด้งที่สอง คือ เราสามารถเอาเงินที่ลงทุนไปลดหย่อนภาษีได้ เด้งที่สาม ก็คือ ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งก็คือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคม ฯลฯ หลายคนอ่านแล้วเซ็ง
“อ้าว! ไม่ได้เป็นพนักงานเอกชน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ไม่มี แถมไม่ได้เป็นข้าราชการด้วย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการก็ไม่มี กองทุนประกันสังคมก็ไม่ได้”
ไม่ได้ก็อย่าไปเสียใจเลยครับ เราก็ยังมีการลงทุนแบบ 2 เด้งให้ลงทุนถึงแม้สิทธิประโยชน์ไม่มากเท่า 3 เด้งแต่ก็ไม่น้อยครับ
การลงทุนแบบ 2 เด้ง คือ การลงทุนที่เมื่อเราลงทุนแล้ว เด้งแรกที่ได้รับ คือ เราสามารถเอาเงินที่ลงทุนไปลดหย่อนภาษีได้ เด้งที่สอง ก็คือ ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งก็คือ ประกันชีวิตที่เราสามารถนำเบี้ยที่ซื้อประกันชีวิตไปลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ประกันบำนาญ เราก็สามารถนำเบี้ยที่ซื้อประกันบำนาญไปลดหย่อนภาษี
ได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15 % ของเงินได้พึงประเมินและไม่เกิน 200,000 บาท กองทุน RMF และกองทุน LTF ก็เช่นกันสามารถนำเงินที่เราซื้อกองทุน RMF และ กองทุน LTF ลดหย่อนภาษีได้อย่างละตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินและไม่เกิน 500,000 บาท ฯลฯ (รายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสามารถหาอ่านได้จากเว็บกรมสรรพากรครับ)
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราจ่ายเงินซื้อประกันชีวิตที่มีอายุกรมธรรม์ 10 ปีขึ้นไป และเป็นประกันชีวิตที่กรมสรรพากรให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 100,000 บาท ถ้าฐานภาษีเงินได้ของเราอยู่ที่ 30% เราก็จะได้ภาษีคืนจากกรมสรรพากรอีก 30% ของ 100,000 บาท เท่ากับ 30,000 บาท สรุปคือ เราจ่ายเงิน100,000 บาท แต่กรมสรรพากรช่วยเราจ่ายเบี้ย 30,000 บาท เท่ากับเราได้ส่วนลดฟรีๆ
30% แถมผลประโยชน์ที่เราได้รับจากประกันชีวิตก็ไม่เสียภาษี (หากทำตามเงื่อนไขของประกันชีวิต) และอีกอย่างครับ การลงทุนทั้ง 4 แบบนี้เป็นการลงทุนที่ใครก็ซื้อได้ไม่จำเป็นต้องเป็นพนักงานเอกชน หรือ ข้าราชการ เป็นพ่อค้าแม่ค้า พวกอาชีพอิสระ อย่างพวกตัวแทนประกันชีวิต พวกตัวแทนขายตรง ฯลฯ ก็ซื้อและสามารถเอาไปลดหย่อนภาษีได้ทั้งนั้น
แต่เพราะการลงทุนทั้ง 3 เด้งและ 2 เด้งเป็นการลงทุนที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ กรมสรรพากรจึงกำหนดเงื่อนไขและข้อจำกัดในการลงทุนเยอะ และส่วนใหญ่เป็นการลงทุนระยะยาวอย่างน้อยสุดก็ 5 ปีปฏิทิน (กองทุน LTF) และที่สำคัญคือ ลงทุนได้แบบจำกัด คือ ไม่ใช่ว่ามีเงินเยอะ จะซื้อเท่าไหร่ก็ได้ เหตุผลก็เพราะกรมสรรพากรก็กลัวเหมือนกันว่า หากเปิดให้ซื้อได้อย่างไม่จำกัด เผลอๆ อาจไม่มีใครเสียภาษีให้กรมสรรพากรเลย
เมื่อเจอเงื่อนไขและข้อจำกัดในการลงทุนอย่างนี้ หลายคนถึงกับถอดใจไม่ลงทุนในการลงทุนแบบ 3 เด้ง 2 เด้งเอาดื้อๆ อยากบอกเลยครับว่า อย่าถอดใจ เพราะการลงทุนแบบ 3 เด้ง 2 เด้งที่กรมสรรพากรให้ประโยชน์ทางภาษีเป็นการลงทุนที่จำเป็นสำหรับชีวิตทั้งนั้น และส่วนใหญ่จะเป็นการออมเงินเพื่อเกษียณอายุ ซึ่งเราทุกคนต้องพบภาวะเกษียณที่ไม่มีรายได้ แต่มีรายจ่ายกันทั้งนั้น (ถ้าไม่ตายก่อน) หากเราไม่มีการออมเงินที่มากพอ ถึงตอนนั้นเราจะอยู่อย่างไร ที่พูดนี่ ก็เพื่อจะบอกว่า การออมเงินเพื่อเกษียณเป็นสิ่งที่ทุกคนควรต้องมีออมไว้ต่อให้ไม่มีสิทธิประโยชน์เรื่องภาษีก็ตาม และการลงทุนที่สามารถลดหย่อนภาษีได้นั้น อยากให้พวกเรามองดีๆ เพราะหากเราไม่ลงทุนในการลงทุนแบบ 3 เด้ง 2 เด้งเลย ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต RMF หรือ LTF ฯลฯ เราเสียภาษีให้กรมสรรพากรไปเรียบร้อยแล้วนะ การลงทุนแบบ 3 เด้ง 2 เด้งคือ การที่เราทวงภาษีที่เราเสียไปคืนจากกรมสรรพากร และการลงทุนแบบ 3 เด้ง 2 เด้ง เงินที่เราลงทุนไม่ได้สูญหายไปไหนยังเป็นเงินออมของเราอยู่ สิ่งที่อยากจะชี้ให้เห็น ก็คือ หากเราไม่ลงทุนในการลงทุนแบบ 3 เด้ง 2 เด้ง เราแหละขาดทุนจากภาษีที่เราจ่าย
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ถ้ายังไม่ลงทุนเสียดายแย่ ลงทุนกันเถอะครับ เพื่ออนาคตทางการเงินระยะยาวที่มั่นคง และเพื่อผลตอบแทนที่ไม่มีความเสี่ยง ที่ได้มาฟรีๆ จากกรมสรรพากร
หมดการลงทุนแบบ 3 เด้ง และ 2 เด้งแล้ว แต่ยังไม่หมดเรื่อง การลงทุนแบบมีเด้ง ครั้งหน้าเรามาคุยกันเรื่องการลงทุนแบบ 1 เด้ง และการลงทุนแบบ 0 เด้งกันครับ ศึกษาให้ดีก่อนลงทุน