เกษียณสุขด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
“วันนี้คุณวางแผนเกษียณแล้วหรือยัง” คำถามนี้เป็นคำถามที่หลายคนยังไม่ค่อยนึกถึง และไม่ค่อยให้ความสำคัญ ยิ่งถ้าพูดเรื่องนี้กับวัยเริ่มต้นทำงานยิ่งรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว ในทางกลับกัน ถ้าพูดกับผู้ที่อายุวัยกลางคน หลายคนเริ่มรู้สึกว่าอาจสายไปเสียแล้วที่ยังเก็บเงินเพื่อเกษียณไม่พอ
แต่ละคนจะเริ่มต้นวางแผนเพื่อการเกษียณ เมื่อไรและอย่างไร ?
การวางแผนเกษียณอายุ ไม่มีช้าไป ไม่มีเร็วไป แต่อยู่ที่ว่าเริ่มลงมือทำเมื่อไร หากเริ่มต้นได้เร็วเท่าไรก็จะยิ่งบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้เร็วเท่านั้น ดังนั้น ก่อนที่จะเริ่มวางแผนเกษียณอายุ สิ่งแรกที่ต้องพิจารณา คือ ควรทราบว่าตัวเองควรมีเงินประมาณเท่าไร เพื่อใช้ในวัยเกษียณ ณ วันที่หยุดทำงาน ไม่มีรายได้ประจำ
โดยส่วนใหญ่จะเกษียณอายุประมาณ 60 ปี ดังนั้น สิ่งที่ควรพิจาณา
- ปัจจุบันอายุเท่าไร เพื่อพิจารณาช่วงระยะเวลาที่เหลือในการทำงานหาเงิน ก่อนวันที่จะเกษียณอายุ
- คาดว่าหลังเกษียณอายุจะใช้เงินไปอีกกี่ปี (หรือจะเสียชีวิตที่อายุเท่าไร) เพื่อพิจารณาช่วงระยะเวลาในการใช้เงิน
จากข้อมูลสถิติ พบว่าคนไทยส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยโดยประมาณ ผู้ชาย 77 ปี และผู้หญิง 83 ปี ดังนั้น หากเกษียณอายุที่ประมาณ 60 ปี หมายความว่าต้องใช้ชีวิตต่อไปอีกอย่างน้อย 20 – 30 ปี กว่าจะเสียชีวิต
ควรจะต้องมีเงินอย่างน้อยเท่าไรเพื่อไว้ใช้ในวัยเกษียณ ?
จากข้อมูลสถิติพบว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนไทยในกรุงเทพฯ อยู่ที่ประมาณ 34,127 บาทต่อเดือน ดังนั้น ถ้ามีอายุหลังเกษียณไปอีก 25 ปี ควรมีเงินที่ต้องใช้ในวัยเกษียณประมาณ 10,238,100 บาท (คำนวณจากค่าใช้จ่าย 34,127 บาท x 12 เดือน x 25 ปี)
จะหาเงินจากที่ไหน เพื่อเตรียมเอาไว้ใช้ในวัยเกษียณ ?
การที่จะเก็บออมเงินให้ได้หลักสิบล้าน เพื่อใช้ในวัยเกษียณนั้นมีเครื่องมือมากมายเพื่อเป็นแหล่งเงินออมเพื่อวัยเกษียณ ประกอบด้วยกองทุนประกันสังคม, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, เงินชดเชยตามกฎหมาย, กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นต้น แต่เครื่องมือที่เป็นแหล่งเงินออมที่วิเศษที่สุดและอยู่ใกล้ตัวที่สุด
เหมือนมีผู้ช่วยเก็บออมเพื่อวัยเกษียณ ก็คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร ?
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ กองทุนที่จัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งเปรียบเสมือนบริษัทจะมีสวัสดิการที่เป็นกระปุกออมเงิน โดยลูกจ้างจะเก็บออมเงิน เรียกว่า “เงินสะสม” (ในอัตรา 2 – 15% ขึ้นอยู่กับข้อบังคับกองทุนของแต่ละบริษัท) หลังจากลูกจ้างเลือกเก็บออมเงินแล้ว นายจ้างจะช่วยเก็บออมเงินอีกแรง เรียกว่า “เงินสมทบ”
(ในอัตรา 2 – 15% ขึ้นอยู่กับข้อบังคับกองทุนของแต่ละบริษัท) ซึ่งนายจ้างจะช่วยเก็บออมเงินแบบนี้ไปเรื่อยๆ ทุกเดือน จนถึงวันที่ลูกจ้างออกจากงานหรือเกษียณอายุ (อย่าลืม พิจารณาข้อบังคับกองทุน กรณีออกจากงาน) อีกทั้ง เงินก้อนนี้ยังถูกนำไปลงทุนในนโยบายการลงทุนที่ลูกจ้างเลือกลงทุนทุกเดือน เพื่อสร้างผลตอบแทน
จะได้รับเงินประมาณเท่าไรจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ?
จากข้อมูลสถิติพบว่า ในปี 2561 มีจำนวนผู้เกษียณอายุที่รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำนวน 24,374 คน โดยมีสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเกือบ 60% ที่รับเงินจากกองทุน มูลค่าน้อยกว่า 1 ล้านบาท ในทางกลับกันก็มีสมาชิกเกือบ 10% ที่รับเงินจากกองทุน มูลค่ามากกว่า 5 ล้านบาท เพื่อเตรียมเอาไว้ใช้ในวัยเกษียณ
ดังนั้น ตอนเกษียณอายุอยากรับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเท่าไร ก็สามารถเลือกได้ตั้งแต่วันนี้ ถ้ามีการออกแบบการเลือกลงทุนผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ดี
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีความสำคัญต่อการเกษียณอย่างไร ?
จะเห็นว่า ในการวางแผนเกษียณอายุ ต้องเก็บให้ได้หลายล้านบาท ซึ่งถือว่าเยอะสำหรับบางคน แต่วันนี้ได้คำตอบแล้วว่าควรเก็บเงินให้ได้อย่างน้อยเท่าไรและเก็บเงินอย่างไร เพื่อเอาไว้ใช้ในวัยเกษียณ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นแหล่งเงินออมที่สำคัญสำหรับการเกษียณอายุ อย่าละเลยที่จะดูแลเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของตัวเองให้ดี
เริ่มเก็บออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วหรือยัง : ยิ่งออมนาน ยิ่งดี
เก็บออมเงินสะสมในอัตราที่สูงพอแล้วหรือยัง : ยิ่งออมเยอะ ยิ่งดี
เลือกแผนการลงทุนที่เหมาะสมแล้วหรือยัง : ยิ่งผลตอบแทนสูง ยิ่งดี
ถ้าใส่ใจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็จะช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายการวางแผนเกษียณได้ และเกษียณได้อย่างมีความสุข
ผู้ลงทุนควรศึกษาเพิ่มเติม