หุ้นไทยให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 8 – 12% จริงหรือไม่
บทวิจัยและบทความหลายชิ้นอ้างอิงว่าตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 8 – 12% ต่อปี และถ้าหากใช้กฎของ 72 ก็พอจะกะได้ว่าการลงทุนในหุ้นราว 6 – 9 ปี จะทำให้เงินลงทุนเริ่มต้นเพิ่มขึ้นเป็น 1 เท่าตัว
ที่ผ่านมานักวางแผนการเงินส่วนมากจะใช้ค่าสถิติประมาณนี้เป็นผลตอบแทนคาดการณ์เพื่อวางแผนลงทุน ในความเป็นจริงนักลงทุนสามารถสร้างผลตอบแทนระดับนี้จากตลาดหุ้นไทยได้จริงหรือไม่
วิธีที่ง่ายที่สุดอาจเทียบดูผลตอบแทนจากการลงทุนใน LTF ซึ่งมีการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเป็นหลัก พบว่าบาง Lot ที่ถือมาครบหรือเกินกว่า 5 ปีได้ผลตอบแทนเกินเท่าตัวก็มี บาง Lot ก็ได้กำไรบ้างแต่ไม่มากนัก และบาง Lot ก็ยังขาดทุนอยู่
ถึงตอนนี้คงมีคำถามว่า Lot ที่ครบ 5 ปีแล้วแต่ยังกำไรน้อยหรือยังขาดทุน ถ้าถือรอไปให้ถึง 6 – 9 ปี ตามค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนแล้ว เงินลงทุนจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวหรือไม่ คำถามนี้ตอบยาก เพราะคำตอบไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าตอนซื้อ ซื้อถูกหรือซื้อแพงเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับว่าตอนจะขายตลาดเป็นอย่างไร
ค่าเฉลี่ยผลตอบแทน 8 – 12% ต่อปีนั้นเป็นค่าเฉลี่ยในระยะยาว ทว่าผลตอบแทนเฉลี่ยที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงจะแตกต่างกันไป ในตารางที่ 1 ได้แสดงผลตอบแทนเฉลี่ยแบบทบต้นของการลงทุน 10 ปี เป็นช่วงๆ โดยคำนวณจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยบวกเงินปันผลตั้งแต่ปี 2539 – 2561
ค่าสถิติในอดีตแสดงถึงความผันผวนของตลาดหุ้นไทยที่ซื้อแล้วถือลงทุนมาเป็นเวลา 10 ปี จะได้รับผลตอบแทนในช่วงตั้งแต่ -3.24% ถึง +18.63% ต่อปี หากไปดูที่ดัชนีตอนต้นงวด และตอนปลายงวด พบว่าการได้รับผลตอบแทนที่ดีนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับการซื้อในราคาถูกเพียงอย่างเดียว แต่ต้องลุ้นด้วยว่าตอนขายราคาจะเป็นอย่างไร
หากจะพิจารณาว่าช่วงของการซื้อขาย (ต้นปีที่ 1 และสิ้นปีที่ 10) นั้นเป็นอย่างไร โดยดูจากความถูกความแพงของราคาหุ้นในตลาด ที่พิจารณาจากค่า P/E Ratio (พิจารณาตารางที่ 1)
สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2540 – 2549 ที่ตอนเข้าซื้อดัชนีไม่ได้มีความแพงนัก P/E Ratio ประมาณ 12 เท่า แต่เมื่อครบ 10 ปี ตลาดกลับมีราคาถูกลงโดยเปรียบเทียบ P/E Ratio เหลือ 8 เท่า ในช่วง 10 ปีนั้น ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยเพียง 0.61% ต่อปี หรือในช่วงปี 2542 – 2551 ก็มีลักษณะการปรับตัวของตลาดใกล้เคียงกัน
อย่างไรก็ตามในช่วงหลายปีที่ผ่านมาค่า P/E Ratio ของตลาดหุ้นไทยทรงตัวอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยของการลงทุนรอบ 10 ปีมีระดับใกล้เคียงและสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งหมด
DCA ช่วยลดความผันผวนของผลตอบแทน
ความไม่แน่นอนของการคาดการณ์ผลตอบแทนที่ได้รับ ย่อมส่งผลกระทบต่อสมมติฐานผลตอบแทนที่ใช้ในการวางแผนการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเป้าหมายสำคัญที่ไม่ต้องการให้การคาดการณ์ด้านตัวเลขเป้าหมายผิดพลาดมากนัก
วิธีหนึ่งที่ช่วยลดความผันผวนของผลตอบแทน คือ การซื้อแบบถัวเฉลี่ย (Dollar Cost Averaging – DCA) ตารางที่ 2 ได้แสดงผลตอบแทนเปรียบเทียบระหว่างการลงทุนครั้งเดียวตอนต้นงวดแล้วถือลงทุน 10 ปี กับการ DCA ทุกต้นปีด้วยจำนวนเงินเท่าๆ กันตอนต้นปี
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด
ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน หากไม่มีประสบการณ์ ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน