จัดพอร์ตกองทุนรวมอย่างไร สไตล์คนก่อนวัย 30
วัยก่อน 30 ปี เป็นวัยที่ยังมีภาระไม่มาก เพราะส่วนใหญ่ยังไม่มีบุตรและพ่อแม่ยังแข็งแรงหรือยังทำงานอยู่ ทำให้เงินส่วนใหญ่สามารถจัดสรรเพื่อความต้องการของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ทว่าก็ยังเป็นช่วงที่เพิ่งเริ่มทำงานทำให้ยังไม่มีเงินเก็บมากนัก
ดังนั้น กองทุนรวมที่สามารถซื้อเริ่มต้นได้ตั้งแต่หลักร้อยบาท ถือเป็นทางเลือกในการกระจายการลงทุนเพื่อเป้าหมายต่างๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น สำหรับคนวัยก่อน 30 ปี ควรจัดพอร์ตลงทุนในกองทุนรวมโดยแบ่งเงินเป็นอย่างน้อย 4 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 สำรองเพื่อความอุ่นใจ ด้วยกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งเป็นกองทุนที่มีสภาพคล่องสูง สามารถแปลงเป็นเงินสดได้รวดเร็วหากจำเป็นต้องใช้เงิน โดยจะได้รับเงินในวันทำการถัดจากวันที่ขายคืน (T+1) เงินสำรองเพื่อความอุ่นใจเป็นเงินส่วนที่ไม่เน้นผลตอบแทน แค่คาดหวังให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ เช่น 1% – 1.5% ต่อปี
แต่มีโอกาสขาดทุนเพียงเล็กน้อย โดยแต่ละคนควรมีเงินส่วนนี้แค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่โดยทั่วไปแล้วควรมีในจำนวนที่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอีก 3 – 6 เดือนข้างหน้า
ส่วนที่ 2 ลงทุนระยะยาวเพื่อลดภาษี กองทุน LTF (กองทุนรวมหุ้นระยะยาว) เป็นทางเลือกการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีที่มีระยะเวลาสั้นที่สุดสำหรับคนทั่วไป คือถือหน่วยลงทุน 7 ปีปฏิทิน แต่ต้องศึกษาเงื่อนไขให้ดี โดยเฉพาะผลกระทบหากลงทุนผิดเงื่อนไข เช่น หากขายคืนก่อนกำหนดต้องคืนภาษีพร้อมเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือน นับตั้งแต่ปีที่ยื่นภาษี
และกำไรส่วนเกินทุนถือเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษี เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกองทุน RMF (กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ) ที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีและเป็นตัวช่วยในการสะสมเงินไว้ใช้ยามเกษียณที่ดี เพราะกองทุน RMF มีเงื่อนไขว่าต้องลงทุนต่อเนื่องถึงอายุ 55 ปี และต้องลงทุนมาไม่น้อยกว่า 5 ปี เป็นต้น
ส่วนที่ 3 ลงทุนเพื่อเน้นผลตอบแทน เป็นการเน้นลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น กองทุนหุ้นไทย กองทุนหุ้นต่างประเทศ กองทุนทองคำ และกองทุนหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยจะลงทุนแบบเงินก้อนครั้งเดียวหรือแบบสม่ำเสมอทุกเดือนก็ได้ แม้กองทุนเหล่านี้บางช่วงเวลาอาจมีการขาดทุน แต่หากลงทุนได้ 3 – 5 ปีขึ้นไป ก็มักให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยที่สูง
เช่น กองทุนหุ้นไทยที่ผ่านมามีผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 10% – 12% ต่อปี หรือสำหรับคนที่มีการติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด อาจเก็งกำไรโดยการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนได้
แต่การเก็งกำไรผ่านกองทุนนั้น ความถี่ไม่ควรเป็นรายวันหรือรายสัปดาห์เหมือนการลงทุนในหุ้นโดยตรง แต่ควรมีความถี่เป็นรายเดือนหรือรายไตรมาสขึ้นไป อย่างไรก็ตาม หากเก็งกำไรผิดพลาดก็มีโอกาสขาดทุนสูงได้เช่นกัน และแม้ว่าเงินลงทุนส่วนนี้จะเน้นผลตอบแทนแต่ก็ไม่ควรมีสัดส่วนจำนวนเงินลงทุนที่มากเกินไป เพราะหากเศรษฐกิจอยู่ในสถานการณ์ไม่ดีอาจได้รับผลขาดทุนสูง
จึงควรกำหนดสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม สำหรับเงินลงทุนส่วนนี้รวมถึงเงินลงทุนในกองทุน LTF/RMF ที่เป็นหุ้นหรือทองคำ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการขาดทุน เช่น ผู้ที่รับความได้ปานกลาง อาจกำหนดสัดส่วนไว้ที่ 30% ส่วนผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูงอาจกำหนดสัดส่วนไว้ที่ 55% ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นต้น หรือผู้ที่เริ่มต้นลงทุนอาจเริ่มจากกองทุน
รวมผสมที่มีความเสี่ยงปานกลางก่อนก็ได้
ส่วนที่ 4 ลงทุนเพื่อความมั่นคง เป็นส่วนที่เน้นลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะยาว เพื่อรักษาเงินลงทุนไม่ให้เสื่อมค่าจากผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อมากนัก แม้ในช่วงสั้นๆ อาจมีผลขาดทุนบ้าง แต่เมื่อลงทุนไประยะเวลาหนึ่งแล้ว เช่น 6 เดือน – 1 ปี มูลค่ากองทุนก็มักกลับมาเท่าทุนหรือได้รับผลกำไร โดยเงินลงทุนส่วนนี้ คือส่วนที่นอกเหนือจาก 3 ส่วนแรก
ซึ่งแต่ละคนจะมีจำนวนที่มากหรือน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ข้อจำกัด และความต้องการเงินลงทุนใน 3 ส่วนแรกตามที่ได้กล่าวมา
การจัดพอร์ตที่ดีนั้น เป็นการจัดสรรเงินลงทุนเพื่อให้ครอบคลุมวัตถุประสงค์ต่างๆ ของแต่ละบุคคลและแต่ละช่วงวัย โดยไม่ได้มุ่งเน้นหรือละทิ้งเรื่องใดเรื่องหนึ่งไป เช่น แม้อยากได้ผลตอบแทนสูงก็ไม่ควรนำเงินทั้งหมดไปลงทุนในกองทุนความเสี่ยงสูง แต่ควรแบ่งเงินไปลงทุนเพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น สำรองเพื่อความอุ่นใจ ลดหย่อนภาษี และเพื่อความมั่นคงที่มี
ความสำคัญไม่แพ้กันด้วย ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการลงทุน