5 อันดับความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกองทุนรวม
ปัจจุบันนี้ กองทุนรวมถือเป็นช่องทางการลงทุนอันดับต้นๆ ของนักลงทุน แต่ยังมีบางส่วนที่มีมีความสับสนอยู่ และนี่คือ 5 อันดับยอดฮิตกับความเข้าใจผิดที่มีต่อกองทุนรวม
- ความเข้าใจผิดเรื่องมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV)
นักลงทุนอาจจะเข้าใจว่าการเลือกซื้อกองทุนจะต้องเลือกกองทุนที่มีราคา NAV ต่ำๆ หรือถ้าเป็นกองทุนพึ่งเปิดซื้อขาย (IPO) ถ้าเปิดราคา 10 บาทได้ยิ่งดี
กองทุน A มีราคาตลาดที่ 15 บาท กับกองทุน B มีราคาตลาด 30 บาท นักลงทุนก็จะเลือกลงทุนกองทุน A เนื่องจากมองว่าถูกกว่าและยังปรับขึ้นไม่มาก (ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงทั้ง 2 กองทุนอาจจะลงทุนในสินทรัพย์ตัวเดียวกันก็ได้)
ตัวอย่างที่ยกมาให้ดูถือว่าเป็นเรื่องที่เกิดได้บ่อยมากๆ และถือเป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงเพราะว่าความจริงแล้วกองทุนเกือบทุกกองในประเทศไทย เวลาจดทะเบียนเริ่มทำการซื้อขายมักจะจดทะเบียนซื้อขายกันที่ราคาเริ่มต้น 10 บาทเท่ากัน ดังนั้น จะเอาราคาตลาดในปัจจุบันมาเทียบกันไม่ได้แน่นอน และการจะเปรียบเทียบความถูกแพงของกองทุนนั้น
ไม่สามารถเทียบกันได้ในแง่ของราคาเลย
ยกตัวอย่าง กองทุน A และกองทุน B เป็นกองทุนเลียนแบบดัชนี SET50 เหมือนกัน แต่กองทุน A เปิดกองมาแล้ว 10 ปี (โดยช่วง 10 ปี ดัชนี SET50 ขึ้นมาราวๆ 50%) ในขณะที่กองทุน B เปิดมาได้ 1 ปี ทำให้ราคา NAV ของกองทุน A สูงกว่ากองทุน B มาก
นักลงทุนที่เข้าใจผิดอาจไปตัดสินใจซื้อกองทุน B ด้วยเข้าใจว่าราคาถูกกว่า ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วทั้ง 2 กองทุนไม่ได้แตกต่างกันเลย ดังนั้น โดยสรุปแล้วไม่สามารถดูความถูกแพงของกองทุน จากราคา NAV ได้ หรือจะให้ดีกว่านั้น “อย่าตัดสินใจเลือกกองทุนโดยใช้ราคา NAV เป็นหลัก” แต่ควรจะพิจารณาจากความสามารถในการบริหารของผู้จัดการกองทุน
ลักษณะสินทรัพย์ที่ลงทุน และค่าธรรมเนียม
- Trigger Fund รับประกันผลตอบแทน
นักลงทุนจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่ากองทุนทริกเกอร์ (Trigger Fund) คือกองทุนที่รับประกันผลตอบแทน เช่น กองทุนทริกเกอร์ AAA 5 เดือน 5% คือกองทุนที่เมื่อลงทุนแล้วจะได้ 5% ภายใน 5 เดือน ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับความเป็นจริง เพราะแท้จริงแล้ว กองทุนทริกเกอร์คือกองทุนที่ตั้งเงื่อนไขไว้ว่า “ในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ ถ้าราคากองทุนขึ้นไปถึงเป้าหมาย
หรือได้กำไรตามที่ตั้งเป้าไว้ กองทุนจะทำการขายเพื่อ Take Profit ให้ โดยที่นักลงทุนไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนในช่วงระยะเวลาที่กำหนดไว้ได้เลย”
นั่นหมายความว่าถ้าระหว่างนั้นเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นก็สามารถขาดทุนได้เช่นกัน และการขาดทุนนั้นจะเป็นการขาดทุนแบบไม่มีขีดจำกัด คือลงได้เรื่อยๆ ตามสภาวะตลาดและขายไม่ได้แม้ว่าจะอยากขายเพื่อ Cut Loss แค่ไหนก็ตาม ดังนั้น ก่อนจะลงทุนอะไรก็ตาม “นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลในหนังสือชี้ชวน ก่อนตัดสินใจลงทุน”
- กองปันผล ดีกว่ากองไม่ปันผล
เรื่องนี้เป็นปัญหาโลกแตกของหลายๆ คน คือในใจก็อยากได้เงินปันผลแต่ในขณะเดียวกันก็ไม่อยากเสียภาษีเงินปันผล 10% ครั้นจะไปเลือกกองทุนไม่จ่ายปันผลก็ไม่ชอบอีก เพราะเข้าใจไปว่ากองทุนที่ไม่มีนโยบายจ่ายปันผล คือ กองทุนที่ลงทุนในหุ้นที่ไม่มีเงินปันผลให้ ต่างกับกองทุนที่มีนโยบายจ่ายปันผลที่ไปลงในหุ้นที่มีการจ่ายปันผลอีกที ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด
จริงๆ แล้วการจะจ่ายหรือไม่จ่ายปันผลขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละกองทุน ไม่ได้เกี่ยวกับหุ้นหรือสินทรัพย์ที่กองทุนไปลงทุน เช่น กองทุน A และกองทุน B เป็นกองทุนที่ลงทุนใน SET50 เหมือนกัน โดยกองทุน A มีนโยบายจ่ายปันผล “ไม่น้อยกว่า 90% ของกำไรในแต่ละรอบ” และกองทุน B ไม่จ่ายปันผล ถึงตรงนี้มี 2 จุดที่ต้องทำความเข้าใจ
คำว่า “ไม่น้อยกว่า 90% ของกำไร” คำว่ากำไรในที่นี้หมายถึงทั้งส่วนต่างราคาและเงินปันผลที่กองทุนทำได้ในแต่ละรอบ (ดังนั้น ไม่สำคัญเลยว่าจะต้องลงทุนหุ้นที่จ่ายปันผลหรือไม่)
กองทุน B ที่ไม่จ่ายปันผล จริงๆ แล้วกองทุนก็ได้รับเงินปันผลจากหุ้นที่ลงทุนอยู่ เพียงแต่กองทุนไม่ได้จ่ายออกมาให้ผู้ถือหน่วย แต่นำไปลงทุนต่อรวมเป็นมูลค่ากองทุนให้เลย
ดังนั้น หากนักลงทุนจะต้องเลือกลงทุนสักกอง ควรเลือกตามวัตถุประสงค์ของตัวเอง คือ “ถ้าชอบให้มีกระแสเงินสดเข้ามาระหว่างที่ลงทุนก็เลือกแบบจ่ายปันผล (แต่ต้องยอมเสียภาษี 10%) แต่หากไม่ชอบเงินปันผล แต่อยากให้บลจ. นำกำไรไปลงทุนต่อเลย ก็เลือกแบบไม่จ่ายปันผลจะดีที่สุด” แล้วค่อยไปคัดเลือกกองทุนที่มีผลการดำเนินงานโดดเด่นต่อ
- ถ้า บลจ. เจ๊ง! เงินต้นจะหาย
บางคนอาจจะเข้าใจว่า “ถ้าหาก บลจ. หรือผู้จัดการกองทุนที่บริหารกองทุนเกิดเจ๊ง เงินต้นฉันจะสูญหายหมด” แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย เพราะในการจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนกับสำนักงาน ก.ล.ต. กองทุนนั้นจะต้องถูกจัดตั้งขึ้นในนามนิติบุคคล แยกออกจากสินทรัพย์ของ บลจ. ที่บริหารอย่างสิ้นเชิง นั่นหมายความว่าแม้ “บลจ .จะเจ๊ง แต่เงินที่อยู่ในกองทุนก็ยัง
ไม่ได้หายไปไหนแน่นอน” และเงินลงทุนที่อยู่ในกองทุนนั้นจะถูกโอนไปให้ “ผู้ดูแลผลประโยชน์” (ซึ่งก็คือธนาคารยักษ์ใหญ่หลายๆ แห่ง) เป็นผู้ดำเนินการเรื่องกฎหมายและจัดหา บลจ.ใหม่ หรือผู้จัดการกองทุนใหม่มาบริหารสินทรัพย์ของกองทุนกองนี้ต่อไป
- แยกไม่ออกระหว่าง บลจ. กับ บล.
ปัจจุบันนักลงทุนหลายๆ คนยังคงสับสนกันอยู่บ่อยครั้งว่า บลจ. กับ บล. ต่างกันอย่างไร จนบางคนก็เข้าใจผิดว่าคือที่เดียวกัน ซึ่งในความเป็นจริง บลจ. ก็คือธุรกิจที่ผลิตกองทุนหรือบริหารกองทุน จากนั้นก็ส่งกองทุนที่ผลิตไปให้ธนาคารหรือ บล. เป็นผู้ขาย ซึ่งทั้งธนาคาร (บางแห่ง) และ บล. นั้นสามารถขายกองทุนของ บลจ.หลายๆ แห่งได้ในที่เดียว
จากความเข้าใจผิดทั้ง 5 นักลงทุนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยเท่านั้นและคงไม่เป็นอะไรหากจะเข้าใจผิด แต่ในความเป็นจริงเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับผู้ที่เริ่มลงทุน ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่กองทุนรวมเท่านั้น ที่นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจกับลักษณะการลงทุนนั้นๆ ก่อนตัดสินใจลงทุน แต่รวมถึงการลงทุนทุกรูปแบบ เพื่อที่นักลงทุนจะ
ได้รับผลตอบแทนที่ดีและมีความสุขกับการลงทุน ศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุน