หุ้นสามัญ: เครื่องจักรผลิตเงินอัตโนมัติ
หลายๆ ท่านที่อยากลงทุนใน “หุ้นสามัญ” แต่ยังกล้าๆ กลัวๆ ไม่ยอมลงทุนเสียที วันนี้ผมมีเรื่องราวของเพื่อนรุ่นน้องสมัยเรียนปริญญาโทมาเล่าสู่กันฟังครับ เพื่อนรุ่นน้องของผมคนนี้ ปัจจุบันเป็นหนุ่มใหญ่วัย 50 ปี ที่น่าสนใจ คือ เขาบอกว่าเพิ่งออกจากงานมาอยู่บ้านเฉยๆ สถานะการเงินแม้ไม่ถึงขั้นมหาเศรษฐี แต่ใม่ต้องทำงานตลอดชีวิตก็ได้ ผมบอกว่านี่แหละที่เขาเรียกกันว่า
“มีอิสรภาพทางการเงิน” เลยถือโอกาสขอเคล็ดลับจากเขา
เขาบอกว่า “ผมวางแผนการเงินมาตลอดชีวิตการทำงาน ทั้งแผนการเงินของตนเองและครอบครัว ตอนนี้ลูกชายคนเดียวของเขาก็จบการศึกษาระดับปริญญาโทจากต่างประเทศ และแต่งงานมีครอบครัวไปแล้ว เหลือแค่ 2 คน สามีภรรยา นับดูเงินและทรัพย์สินที่มีแล้ว ก็น่าจะพอเลี้ยงตัวเองได้”
เขาบอกต่ออีกว่า เขา 2 คน สามีภรรยา มีเงินออมจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประมาณ 14 ล้านบาท และเงินที่ออมผ่านกองทุน LTF อีก 7 ล้านบาท รวม 21 ล้านบาท ซึ่งคำนวณแล้ว น่าจะดึงมาใช้หลังเกษียณได้เฉลี่ยเดือนละ 90,000 บาท เป็นระยะเวลา 30 ปี จนถึงอายุ 80 ปี ซึ่งถือว่าเยอะพอควรเลยทีเดียว
แต่มันไม่จบแค่นี้… เคล็ดลับสุดยอด นอกเหนือจากเงินออมเพื่อเกษียณผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุน LTF แล้ว เพื่อนรุ่นน้องคนนี้บอกว่า เขา “ออมในหุ้น” ด้วย โดยเลือกหุ้นดีๆ เข้าพอร์ตเมื่อ 5 ปีก่อน ด้วยเงินลงทุนตั้งต้น 3,000,000 บาท ในหุ้นธนาคารขนาดเล็กแห่งหนึ่ง แต่ผมขออนุญาตไม่เปิดเผยชื่อหุ้นจริงนะครับ สมมติว่าเป็นหุ้นของธนาคาร ABC
แล้วกัน ราคาที่ซื้อตอนนั้นเริ่มต้นอยู่ที่ 11.90 บาท ปีแรกเขาได้เงินปันผลประมาณ 9% เมื่อได้เงินปันผลมา เขาจะนำไปซื้อหุ้น ABC เพิ่ม ขณะเดียวกันเขาก็เติมเงินซื้อหุ้น ABC เข้าพอร์ตอย่างสม่ำเสมอหลังจากได้รับเงินโบนัสในช่วงต้นเดือนมกราคมของทุกปี ปีละ 400,000 บาท ซึ่งทำให้จำนวนหุ้น ABC ในพอร์ตของเขาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
หลังจากถือหุ้นมา 4 ปีกว่าๆ ราคาหุ้น ABC พุ่งทะยานขึ้นไปปิดที่ราคาสูงถึง 60.25 บาท แต่เนื่องจากปีนั้นเป็นช่วงหุ้นขาขึ้น เขาตัดสินใจว่าจะยังไม่ขาย เพราะภาพรวมธุรกิจก็ยังดีอยู่ ราคาหุ้นน่าจะไปต่อได้อีกสักนิด ปรากฏว่าราคาหุ้น ABC กลับปรับตัวลดลงมาเรื่อยๆ อยู่ที่ 41.50 บาท ขณะนั้นเขามีจำนวนหุ้น ABC ประมาณ 400,000 หุ้น ซึ่งต้นทุนเฉลี่ยตอนนั้นอยู่ที่
20.18 บาท เขาเริ่มคิดว่าถ้าขายตอนนี้อย่างน้อยก็ยังกำไรอยู่ 21.32 บาทต่อหุ้น เขาจึงตัดสินใจแบ่งขายหุ้น ABC ออกไปครึ่งหนึ่ง ประมาณ 200,000 หุ้น หรือคิดเป็นมูลค่าตามราคาตลาดก็ราวๆ 8 ล้านบาท เท่ากับว่าได้เงินทุน 5 ล้านบาทคืน แถมได้กำไรด้วย แม้เขาจะไม่ได้ขายตอนราคาดีที่สุดก็ตาม ซึ่งเขานำเงินกำไรก้อนนั้นไปลงทุนซื้อหุ้นตัวอื่นเข้าพอร์ตเพื่อกระจายความเสี่ยง
ประเด็นสำคัญอยู่ตรงนี้ครับ… เขายังมีหุ้น ABC เหลืออยู่ราว 200,000 หุ้น มูลค่าตลาดประมาณ 8 ล้านบาท ซึ่งเป็นกำไรล้วนๆ ถ้าหุ้นตัวนี้ขึ้นต่อก็ยิ่งกำไร ถ้าราคาลงเท่าไหร่ก็ยังทนได้ เพราะเป็นกำไรอย่างเดียว แต่เขาคิดว่าจะไม่ขายทั้งหมด เพราะถ้าหุ้น ABC จ่ายปันผลหุ้นละ 2 บาท เขาจะได้เงินปันผลปีละ 400,000 บาท เท่ากับได้เงินใช้อีกเดือนละ 30,000 บาท
เมื่อรวมกับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและ LTF แล้ว เขาจะมีเงินใช้หลังเกษียณประมาณเดือนละ 120,000 บาท หน้าที่ที่ต้องทำ คือ คอยติดตามดูว่าหุ้นตัวนี้ยังดีอยู่หรือไม่
เขาสรุปว่า “หุ้นสามัญดีๆ ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นเครื่องจักรผลิตเงินอัตโนมัติให้เขาได้ ทำให้เขาเกษียณได้อย่างมีความสุข” แล้วยังบอกต่ออีกว่า “การออมในหุ้นมีประโยชน์มากๆ เพราะมีพลังของเงินต้น พลังของเงินปันผลทบต้น และพลังของมูลค่ากิจการที่อาจเพิ่มขึ้นได้” ก่อนร่ำลากัน เขาถามผมว่าผมออมในหุ้นบ้างไหม ผมตอบว่ามีบ้าง
เพื่อไม่ให้เสียเชิงของคนที่อยู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และแสดงความยินดีกับการเกษียณของเขา ตัวเองก็เดินคอตกกลับมาคิดว่า “แล้วเราจะมีอิสรภาพทางการเงินได้เมื่อไหร่ล่ะ อายุก็ผ่านเลข 5 มาแล้วนี่นา” แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ เริ่มสร้างเครื่องจักรผลิตเงินอัตโนมัติให้ตัวเองหรือยัง ณัฐมล ทิ้งท้าย