วัฏจักรตลาดหุ้น
ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ เกี่ยวกับวัฏจักรตลาดหุ้น ซึ่งคุณไพบูลย์เชื่อว่าเรื่องดังกล่าวมีความสำคัญ เพราะหากนักลงทุนเข้าอกเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดีแล้ว จะลดความกังวลเกี่ยวกับสภาวะตลาดลงไปได้ และอาจจะไม่ต้องนั่งเฝ้าหน้าจอเพื่อลุ้นราคาหุ้นแบบวันต่อวัน
ดังนั้น หากนักลงทุนเข้าใจวัฏจักรตลาดหุ้นจะทำให้เข้าใจตลาดหุ้น และลงทุนได้อย่างมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับวัฏจักรตลาดหุ้นในมุมมองของคุณไพบูลย์นั้นมี 4 ช่วงด้วยกันคือ
1.The Great Bond Bull Market ยุคทองของตลาดตราสารหนี้ ยกตัวอย่าง นับตั้งแต่เกิดวิกฤติซับไพร์ม อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงประมาณปี 2009 – 2011 หากนักลงทุนลงทุนในตราสารหนี้ จะได้ผลกำไรส่วนต่างจากราคา (capital gain) ในระดับที่น่าประทับใจ
ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ประเทศขนาดใหญ่ของโลกได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) ลง เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งในภาวะอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ หากลงทุนในเงินฝากประจำระยะยาว พันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้ภาคเอกชน และกองทุนรวมตราสารหนี้ที่อายุเฉลี่ยของตราสาร (Duration) เกิน 1 ปี จะให้อัตราผลตอบแทนที่ดี
ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยนั้น กำลังซื้อของประชาชนและระดับราคาสินค้าและบริการปรับลดลง ส่งผลให้ยอดขายและผลกำไรของธุรกิจอ่อนแอลง เมื่อธนาคารกลางเริ่มส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นักลงทุนจึงพยายามล็อคอัตราผลตอบแทนด้วยการเลี่ยงจากการลงทุนในตราสารทุนไปลงทุนในตราสารหนี้แทน ด้วยเหตุนี้
ราคาของตราสารหนี้จึงมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวค่อนข้างมาก
2.The Great Correction เป็นช่วงจุดหักเห นั่นคือ การเปลี่ยนทิศของอัตราดอกเบี้ยโลก โดยกำลังกลับสู่ขาขึ้น โดยในช่วงของการเปลี่ยนทิศทาง นักลงทุนจะมีความกังวลหรือไม่มีความมั่นใจต่ออนาคต ดังนั้น จะทำการขายสินทรัพย์ที่ลงทุนเอาไว้ออกไปเพื่อลดความเสี่ยง และรอดูความชัดเจนของทิศทางดอกเบี้ย
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลหรือไม่มีความมั่นใจ เพราะมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะถึงจุดต่ำสุดและกำลังเริ่มปรับขึ้น ประกอบกับเริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม สถานการณ์จะไม่มีปัญหา ถ้าอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นไปพร้อมๆ กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่จะมีปัญหาก็ต่อเมื่อนักลงทุนมีความกังวลว่ารัฐบาลประเทศต่างๆ
ปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ อีกทั้งต้องรอดูตัวเลขดัชนีที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจได้ฟื้นตัวแล้วอย่างแท้จริง
3.The Great Rotation เมื่อนักลงทุนมั่นใจกับการบริหารอัตราดอกเบี้ยของรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก และเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจนแล้ว ก็จะหลุดออกจากยุค The Great Correction แล้วเข้าสู่ยุคเรียกว่า The Great Rotation
มีหลายๆ คนเข้าใจกันว่าเมื่ออัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนทิศเป็นขาขึ้น เม็ดเงินจะออกจากตลาดตราสารหนี้เข้าตลาดหุ้นทันทีนั้น ในภาคปฏิบัติแล้วนักลงทุนจะต้องรอดูความชัดเจนเรื่องอัตราดอกเบี้ยและทิศทางเศรษฐกิจก่อน เพราะอย่าลืมว่าตลาดหุ้นจะดีก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจเป็นขาขึ้น เพราะตลาดหุ้นถูกขับเคลื่อนด้วยการผลิตผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนเป็นปัจจัยสำคัญ
ดังนั้น หากตลาดหุ้นจะปรับขึ้นต่อเนื่องภายใต้อัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนทิศเป็นขาขึ้น การเติบโตของเศรษฐกิจจึงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ
โดยยุค The Great Rotation จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อนักลงทุนมั่นใจต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป เมื่อเป็นแบบนี้จะได้เห็นเม็ดเงินลงทุนค่อยๆ ออกจากตราสารหนี้เข้าสู่ตลาดหุ้นมากขึ้น
- The Great Equity Bull Market การที่จะเข้าสู่ยุคทองของตลาดทุนได้ ทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามที่ประเมินเอาไว้ เช่น เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ผลการดำเนินงานของธุรกิจขยายตัว อัตราดอกเบี้ยนโยบายค่อยๆ ปรับขึ้น สภาพคล่องยังอยู่ในตลาดโลก หากเป็นไปตามคาดแบบนี้ เม็ดเงินจะไหลเข้ามาในตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น หากนักลงทุนเข้าใจสถานการณ์ในแต่ละช่วง จะสามารถบริหารจัดการเงินลงทุนได้อย่างเหมาะสม และสิ่งที่ตามมา ก็คือ ผลตอบแทนที่งดงาม ขณะที่ความเสี่ยงจะปรับลดลงอย่างน่าประทับใจ ณัฐมล ลิ้งท้าย