มือใหม่ลงทุนต้องรู้จักหยุดการขาดทุน
นักลงทุนมือใหม่หลายคนเมื่อเริ่มต้นลงทุนมักจะมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกหุ้นเป็นของตนเอง บางคนอาจจะถนัดที่ใช้ปัจจัยพื้นฐานเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกหุ้น บ้างก็ถนัดที่จะใช้ปัจจัยเทคนิคเป็นเครื่องมือหลักเพื่อจับจังหวะการทำกำไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นความถนัดเฉพาะตัวที่ไม่มีกฎเกณฑ์ใดตายตัวสำหรับนักลงทุนแต่ละท่าน
แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนทุกคนควรจะต้องรู้และปฏิบัติตามอย่างมีวินัยนั่นคือเรื่องของการหยุดการขาดทุนไม่ว่าจะด้วยวิธี “Stop Loss” หรือ “Cut Loss” นั่นเอง
Warren Buffett นักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่ มีกฏเกณฑ์ในการลงทุนที่เคร่งครัด และ เขามักจะบอกกฏเหล่านี้ของเขาให้แก่นักลงทุนอยู่เสมอ นั่นคือ
กฎข้อที่ 1 ของการลงทุน คือ ห้ามขาดทุน (Never lose money) และ
กฎข้อที่ 2 คือ อย่าลืมกฎข้อที่ 1 (Never forget rule no. 1)
เพราะเขารู้ดีว่า ในการลงทุนนั้นหากเราสูญเสียเงินลงทุนไปแล้ว การจะทำให้เงินลงทุนกลับมาเป็นเท่าเดิมนั้นยากยิ่งกว่า ดังตารางข้างล่างที่จะแสดงให้เห็นถึงผลของการขาดทุนเงินลงทุนตั้งต้น
ดูแค่นี้ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องที่ยากอะไร แต่ถ้าหากท่านไม่สามารถหยุด % การขาดทุนได้ จนทำให้ขาดทุนถึง 90% นักลงทุนจะต้องหาสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนได้มากถึง 900% เพื่อให้เงินลงทุนกลับมาเท่าเดิม ซึ่งสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนได้มากเท่านั้น หากจะหาให้ได้ก็คงต้องอาศัยเวลาและโชคชะตาที่จะช่วยได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ยิ่งกว่าการลงทุนให้ได้กำไรคือ..
. การพยายามรักษาเงินต้นเอาไว้ให้ได้ และหยุดการขาดทุนให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งปกติแล้วการ Cut Loss และ Stop Loss มักจะใช้เพื่อจุดประสงค์ 2 อย่าง คือ
- ใช้เพื่อหยุดการขาดทุน และปกป้องเงินลงทุน
- ใช้เพื่อปกป้องผลกำไร
การหยุดการขาดทุนด้วยวิธี Cut Loss และ Stop Loss นั้นแตกต่างกันอย่างไร?
การ Cut loss หมายถึง การขายหลักทรัพย์ออกไปโดยที่ “ขาดทุน” แต่เพื่อให้ขาดทุนน้อยที่สุด ก่อนที่จะขาดทุนมากไปกว่าปัจจุบัน ส่วน Stop loss นั้นหมายถึง การหยุดเพื่อไม่ให้ราคาหลักทรัพย์ในพอร์ตลดลงไปมากกว่านี้ ซึ่งขณะที่ทำการ Stop loss นั้นท่านอาจจะขาดทุนหรือได้กำไรอยู่ในขณะที่ขายก็ได้ แต่ขายออกไปเพื่อป้องกันไม่ให้กำไรลดลงกว่าที่เป็นหรือขาดทุนมากยิ่งขึ้น
วิธีการที่เป็นที่นิยมสำหรับการตั้งจุดหยุดการขาดทุนสำหรับมือใหม่มีดังนี้
วิธีที่ 1 Percentage Stop Loss : เป็นวิธีตั้งจุดตัดขาดทุนที่ง่ายและทำได้อย่างรวดเร็วที่สุด ซึ่งวิธีการนั้นก็คือ นำ % Stop Loss (% ที่รับได้หากขาดทุน) มาคูณกับราคาต้นทุนที่ซื้อหลักทรัพย์นั้น
เช่น ซื้อไว้ที่ราคา 10 บาท ตั้ง % ตัดขาดทุนไว้ที่ 5% คำนวณจุดตัดขาดทุนได้ 10 x 5% = 0.5 บาท
นั่นหมายความว่าเรารับการขาดทุนได้ที่ 0.5 บาท ดังนั้น หากหลักทรัพย์ที่ถือราคาลดลงจาก 10 บาทเป็น 9.5 (10-0.5) บาท ต้องตัดสินใจขาย
ซึ่งการตั้ง % ตัดขาดทุนนั้นเป็นค่าที่ไม่ตายตัวขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนยอมรับได้และความเต็มใจในการยอมขาดทุนของผู้ลงทุนเอง
วิธีที่ 2 Price Pattern Stop Loss : คือการตั้ง Stop Loss ตามสิ่งที่กราฟบอก เหมาะสำหรับคนที่มีความรู้ด้าน Technical มาพอประมาณแล้ว เป็นการใช้ แนวรับ, แนวต้าน, Trend Line เป็นตัวกำหนดจุด
เช่น การใช้เส้นเทรนไลน์ trend line ตีกรอบราคาไว้จาก ราคาหุ้นต่ำสุดในแต่ละช่วงเวลา หากราคาของหลักทรัพย์หลุดแนวรับเมื่อไรก็ขายหลักทรัพย์เพื่อ Stop Loss ทันที
วิธีที่ 3 Volatility Stop Loss : คือการตั้งจุด Stop Loss ด้วยการใช้ความผันผวนจากการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น นิยมใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Average True Range (ATR) ซึ่ง ATR จะเข้ามาช่วยคำนวนราคา Stop Loss จากราคาสูงสุด ต่ำสุด ภายในช่วงเวลา (ความผันผวน) มาให้ ค่าที่คำนวณได้จะแสดงในรูปแบบของจุดสีแดงใต้ราคา
หากวันไหนราคาปิดตัวลงมาต่ำกว่าราคาที่ ATR คำนวณไว้ให้ก็ขายหลักทรัพย์เพื่อ Stop Loss
ยังมีวิธีการ Stop Loss อื่นๆ อีกมากมายที่นักลงทุนสามารถศึกษาและเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมกับสไตล์ของตนเอง อย่างไรก็ดี อย่าลืมว่าในทุกๆ การการลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในหลักทรัพย์ ที่ขึ้นชื่อได้ว่าเป็นสินทรัพย์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ในระดับสูง นั่นย่อมหมายถึงความเสี่ยงที่จะต้องสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น
หากจะมีวิธีการใดที่จะช่วยบรรเทาความเสี่ยง หรือจำกัดความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนจะต้องสูญเสียเงินลงทุนไว้ได้ ผู้ลงทุนก็ควรที่จะศึกษาวิธีการนั้นๆ ไว้ พร้อมทั้งปฏิบัติให้ได้อย่างมีวินัย เพื่อตัวของผู้ลงทุนและเพื่อเงินลงทุนของท่านเอง ณัฐมล แนะนำ