ทำความเข้าใจ เก็บภาษี 15% กองทุนตราสารหนี้
28 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังเสนอแก้กฎหมายจัดเก็บภาษี 15% จากผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ ครม. ได้เห็นชอบ หลังจากนั้นก็มีคำถามตามมามากมาย โดยเฉพาะผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ว่าจะผลตอบแทนจะลดลงมากน้อยแค่ไหน
ขั้นตอนการแก้กฎหมายจัดเก็บภาษี 15% จากผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม ซึ่งจะจัดเก็บเฉพาะส่วนของรายได้จากดอกเบี้ย ส่วนลด (Discount) และเงินได้ที่มีลักษณะเดียวกันกับดอกเบี้ยนั้น ปัจจุบัน ครม. รับร่างหลักการ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการคณะกฤษฎีกา ถ้าคณะกฤษฎีการับก็จะออกเป็นกฎหมายลูก และเรื่องจะกลับไปที่สภานิติแห่งชาติ
(สนช.) และ ครม. จากนั้นจะมีประกาศราชกิจจานุเบกษา และอีก 3 เดือนจะมีการบังคับใช้
กระนั้นก็ดี ในเบื้องต้นหากมีการเก็บภาษีดังกล่าวจะจัดเก็บอย่างไร ประเด็นนี้ ชัชชัย สฤษดิ์อภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการและประธานบริหารการลงทุนตราสารหนี้ สายงานจัดการลงทุน บลจ.กสิกรไทย อธิบายว่ากองทุนรวมจะเป็นผู้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
“ภาษี 15% นี้ กองทุนรวมจะเสียในส่วนรายได้ที่เป็นดอกเบี้ยและผลตอบแทนที่เหมือนดอกเบี้ย เช่น ส่วนลด (Discount) เท่านั้น ส่วนกำไรที่เกิดจากส่วนต่างราคา (Capital gain) ไม่ต้องเสียภาษี ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ก็คือผู้ออกตราสาร ผู้ออกหุ้นกู้ ผู้ออกพันธบัตร พูดง่ายๆ ผู้ออกตราสารหนี้ที่กองทุนรวมไปลงทุน
จะหักภาษี ณ ที่จ่ายของดอกเบี้ยที่จ่ายออกหรือส่วนลด”
ยกตัวอย่าง กองทุนตราสารหนี้ XYZ ให้ผลตอบแทน 1 ปี 2% แบ่งออกเป็นดอกเบี้ยรับ 1.5% และกำไรจากส่วนต่างราคา 0.5% “ส่วนที่ต้องเสียภาษี 15% ก็คือดอกเบี้ยรับ จำนวน 0.225 บาท (15% ของ 1.5%) จะเหลือดอกเบี้ยรับหลังหักภาษี 1.275% ดังนั้น เมื่อรวมกับ Capital gain แล้วกองทุนตราสารหนี้ XYZ ให้ผลตอบแทน 1 ปี
ทั้งสิ้น 1.775% (1.275% + 0.5%)” ชัชชัย อธิบาย
หรือกรณี กองทุนรวมตราสารหนี้ไปลงทุนพันธบัตรที่ไม่มีดอกเบี้ย (Zero Coupon Bond) ราคาหน้าตั๋ว 100 บาท แต่กองทุนรวมซื้อได้ในราคาต่ำกว่าราคาหน้าตั๋ว หรือมีส่วนลด (Discount) โดยซื้อมาที่ราคา 98 บาท หากเป็นกรณีนี้ ชัชชัยกล่าวว่ากองทุนรวมต้องจ่ายภาษี 15% ที่ได้รับส่วนลด (2 บาท) นั่นคือจ่ายภาษี 0.30 บาท
อย่างไรก็ตาม สมมติว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ซื้อพันธบัตรระหว่างทางต่อจากสถาบันการเงินที่ได้รับการยกเว้นภาษี ยกตัวอย่างซื้อก่อนที่พันธบัตรมีกำหนดจ่ายดอกเบี้ย 10 วัน ดังนั้น สถาบันการเงินดังกล่าวที่ได้รับการยกเว้นภาษี ตอนที่ซื้อพันธบัตรก็ไม่ได้ถูกหักภาษีเอาไว้ก่อนหน้า
แต่เมื่อกองทุนรวมตราสารหนี้ไปซื้อพันธบัตรต่อ จะต้องจ่ายภาษี 15% แม้จะถือพันธบัตรเพียง 10 วัน เพราะผู้ที่ออกตราสาร ผู้ออกหุ้นกู้ ผู้ออกพันธบัตร จะไม่ทราบว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ถือตราสาร 10 หนี้เพียงแค่วันดังกล่าว
“หากเป็นแบบนี้ อาจทำให้การซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรองมีความยุ่งยากขึ้น เพราะคู่ค้าอาจมีฐานภาษีแตกต่างกัน” ชัชชัย ตั้งประเด็น หรืออีกกรณีที่ต้องติดตามความชัดเจน คือ บลจ. ในประเทศไทย ลงทุนตราสารหนี้ XYZ ขณะเดียวกัน บลจ.แห่งนี้ก็ให้ บลจ.ต่างประเทศ ลงทุนตราสารหนี้ XYZ เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นลักษณะนี้ บลจ. ในประเทศ
จะเสียภาษี 15% แต่ บลจ.ต่างประเทศ ยังไม่ชัดเจนว่าจะเสียภาษีหรือได้รับการยกเว้นภาษี
ทางออก
มีคำถามว่าฝ่ายไหนจะต้องรับต้นทุนถ้าการเก็บภาษี 15% มีผลบังคับใช้ ประเด็นนี้ชัชชัย กล่าวว่า “กองทุนรวมต้องลดค่าบริหารจัดการคงเป็นทางออกหนึ่ง เพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับผลตอบแทนในระดับที่ดี แต่อาจไม่เพียงพอ ดังนั้น ผู้ถือหน่วยลงทุนต้องยอมรับผลตอบแทนที่ลดต่ำลง” ณัฐมล กล่าว
ปัจจุบัน กองทุนรวมตราสารหนี้ในประเทศไทย มี 3 ลักษณะ คือ
- กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market) ที่มีนโยบายลงทุนตราสารหนี้ เป็นแหล่งพักเงินสั้นๆ มีลักษณะผลตอบแทนต่ำ ความผันผวนต่ำ
- กองทุนรวมตราสารหนี้ทั่วไป มีนโยบายลงทุนตราสารหนี้ทั่วๆ ไป โดยนักลงทุนมักใช้สำหรับจัดพอร์ตวางแผนการลงทุนระยะยาว
- กองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีระยะเวลาชัดเจน (Term Fund) ผลตอบแทนจะสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากเล็กน้อย มีผลตอบแทนชัดเจน
จากลักษณะกองทุนรวมตราสารหนี้ดังกล่าว ชัชชัยมองว่าหากมีการจัดเก็บภาษี 15% นักลงทุน ไม่น่าปรับพอร์ตลงทุน แต่ต้องแบ่งสัดส่วนเงินลงทุนให้สอดคล้องกับความต้องการของตัวเอง “ใครต้องการแค่พักเงินก็เน้น Money Market หากต้องการลงทุนในระยะยาวก็ลงทุนกองทุนตราสารหนี้ทั่วไป ส่วนต้องการได้รับผลตอบแทนชัดเจนก็เน้น Term Fund”
อย่างไรก็ตาม ชัชชัยประเมินว่าหลังการเก็บภาษี 15% มีผลบังคับใช้ หากผลตอบแทนกองทุนรวมตราสารหนี้ลดลงและผลตอบแทนใกล้เคียงกับดอกเบี้ยเงินฝาก อาจเห็นนักลงทุนโยกเงินจากกองทุนตราสารหนี้ไปอยู่ในรูปเงินฝาก ขณะที่นักลงทุนที่เน้นการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณอาจมองการลงทุน RMF ที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ เพราะได้รับการยกเว้นภาษี