Fund Flow รีเทิร์น?
ช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยเนื้อหอม เม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเดียวกัน นักลงทุนต่างชาติให้น้ำหนักตลาดหุ้นไทยมากกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ คำถามที่ตามมาก็หนีไม่พ้นว่า เงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาจริงแท้แน่นอนแล้วหรือยัง
ดูข้อมูลย้อนหลัง เดือนมกราคม – พฤษภาคมที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง มีเพียงเดือนกุมภาพันธ์ที่ขายออกไป 107 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มาถึงช่วงมิถุนายน – สิงหาคม ต่างชาติขายหุ้นไทยทุกเดือน รวมทั้งสิ้น 330 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ล่าสุดประมาณครึ่งเดือนแรกของกันยายนนี้ ต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นไทยราว 103 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ตลาดหุ้นอื่นๆ ทั้งหมดในภูมิภาคเดียวกันถูกขายออกทั้งหมด และเป็นที่น่าสังเกตว่าครึ่งแรกของเดือนนี้ ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนสูงสุดประมาณ 1.69%
“เหตุผลหลักๆ ที่ต่างชาติกลับมาให้น้ำหนักหุ้นไทยช่วงนี้คือ ราคาหุ้นยังไม่แพง สะท้อนจาก Expected P/E Ratio ปีนี้อยู่ที่เพียง 16.2 เท่า และปีหน้าลดเหลือ 14.9 เท่า ต่ำเป็นอันดับสองรองจากจีนที่อยู่ระดับ 14.9 เท่าในปีนี้ และ 13.1 เท่าในปีหน้า” เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ให้เหตุผล
เทิดศักดิ์ อธิบายว่าตลาดหุ้นจะ “ไป” หรือ “ไม่ไป” ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental) และเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) “ปัจจัยพื้นฐานหุ้นไทยถือว่าอยู่ในระดับแข็งแกร่ง ผลดำเนินงานบริษัทจดทะเบียนอยู่ในเส้นทางเติบโตต่อเนื่อง”
หากดูเศรษฐกิจไทย เริ่มฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในไตรมาส 2 ปีนี้ เนื่องจากภาคส่งออกฟื้นตัวต่อเนื่อง และการลงทุนเอกชนที่พลิกกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส นอกเหนือจากการลงทุนภาครัฐที่นำร่องไปก่อนตั้งแต่ปีที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันช่วงครึ่งหลังปีนี้ คาดว่าจะมีงานประมูลงานราว 2.27 แสนล้านบาท โดยเฉพาะรถไฟทางคู่เฟสแรก 10 สัญญา มูลค่ารวม 7.3 หมื่นล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ มูลค่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการตกค้างจากแผนการลงทุนในปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีความต่อเนื่องในปีหน้า จากที่คาดว่าจะมีการประมูลงานกว่า 5 แสนล้านบาท
“ปีหน้าคาดเศรษฐกิจไทยจะเติบโตในระดับ 4% และคาดว่าสำนักวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศน่าจะออกมาทยอยปรับเพิ่มการเติบโตเศรษฐกิจไทย เช่นเดียวกับที่ได้ปรับเพิ่มปีนี้ไปแล้ว” เทิดศักดิ์ กล่าว
หากพูดถึงแนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียน เทิดศักดิ์คาดการณ์กำไรสุทธิปีนี้ที่ 9.91 แสนล้านบาท หรือหุ้นละ 101.36 บาท เพิ่มขึ้น 7.1% จากปีที่ผ่านมา โดยกำไรไตรมาสแรกปีนี้คิดเป็นสัดส่วน 28.7% ของประมาณการทั้งปี ส่วนปีหน้าคาดกำไรสุทธิ 1.08 ล้านล้านบาท หรือหุ้นละ 110.4 บาท โดยอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้นของตลาดหุ้นไทย
ในปีนี้คาดว่าอยู่ที่ระดับ 7.1% ส่วนปีหน้าจะเติบโตราว 8.5%
“ถ้าดูปัจจัยพื้นฐานของไทย หุ้นไทยพร้อมขึ้นมากกว่าลง เพียงแต่ปัญหาหุ้นไทยคือ ไม่มีแรงขับเคลื่อนจากเงินลงทุนต่างชาติ” เทิดศักดิ์ กล่าว
ถ้าย้อนไปในช่วงต้นปี 2552 เงินลงทุนต่างชาติไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ผลักดันให้ดัชนีหุ้นไทยขยับขึ้นตามไปด้วย ขณะที่มูลค่าตามราคาตลาด (Market Cap) หุ้นไทยอยู่ประมาณ 10 ล้านล้านบาท
หลังจากนั้นมูลค่าตามราคาตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าต่อเนื่องและดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้นอย่างน่าประทับใจ แต่หลังจากต้นปี 2556 เม็ดเงินต่างชาติไหลออกอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ปัจจัยพื้นฐานยังดูดีแต่เนื่องจากมูลค่าตามราคาตลาดตลาดหุ้นไทยขยับขึ้นต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอยู่ระดับประมาณ 18 ล้านล้านบาท
ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยไม่ค่อยวิ่ง เนื่องจากแรงขับเคลื่อนของเงินต่างชาติหดหาย
อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ต้นปี 2559 เงินต่างชาติเริ่มไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง แต่ก็ยังเป็นปริมาณที่ไม่มาก ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยไม่ค่อยไปไหน ดังนั้น สามารถมองได้ว่าเม็ดเงินต่างชาติมีบทบาทสูงต่อตลาดหุ้นไทย
หากดูสถานะการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติต่ำสุดในรอบ 10 ปี “เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีความมั่นใจว่าตลาดหุ้นไทยพร้อมขึ้นมากกว่าลง เพราะไม่มีแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติอีกแล้ว ตัวเลขล่าสุด (พฤษภาคม 2560) สัดส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยรวมการถือหุ้นผ่าน NDVR อยู่ระดับประมาณ 31% จากอดีตที่เคยอยู่ระดับ
35 – 37% แต่ตั้งแต่ช่วงปี 2546 เป็นต้นมา นักลงทุนต่างชาติลดสัดส่วนการถือหุ้นไทยลงอย่างต่อเนื่อง” เทิดศักดิ์ ให้ข้อมูล
มาดูยอดซื้อสุทธิสะสมของนักลงทุนต่างชาติ (ราคาตลาด) หากดูตั้งแต่ปี 2548 เม็ดเงินลงทุนต่างชาติทะยอยเข้ามาต่อเนื่องจนประมาณช่วงกลางปี 2550 มียอดซื้อสะสมระดับ 3.94 แสนล้านบาท แต่หลังจากเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ เงินลงทุนต่างชาติไหลออกเกือบทั้งหมด จากนั้นมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบผ่านมาตรการ QE เม็ดเงินลงทุนต่างชาติ
ไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง และในช่วงต้นปี 2556 มียอดซื้อสะสมสูงถึง 4.69 แสนล้านบาท
หลังจากมาตรการ QE สิ้นสุดลง และสหรัฐอเมริกาเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่การเมืองไทยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทำให้ต่างชาติทยอยขายหุ้นไทยอีกครั้ง จนกระทั้งต้นปีที่ผ่านมาเริ่มกลับเข้ามาซื้ออีกรอบ และปัจจุบันมียอดซื้อสะสมระดับ 1 แสนล้านบาท
“หากมองยอดซื้อสะสมระดับปัจจุบันกับที่เคยสูงเกือบ 4 แสนล้านบาท ยังมีช่องว่างที่เม็ดเงินต่างชาติเข้ามาอีกมาก ประกอบกับสถานะการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติที่ต่ำสุดในรอบ 10 ปี ก็ไม่ต้องกลัวว่าหุ้นไทยจะถูกต่างชาติขายได้อีก” เทิดศักดิ์ อธิบาย
ประเด็นหนึ่งที่บ่งชี้ว่าหุ้นไทยน่าสนใจคือ Market Earning Yield Gap โดย Earning Yield Gap เกิดจากการนำ Market Earning Yield (กำไรต่อหุ้นของตลาดหารด้วยดัชนีหุ้นไทย) ลบด้วยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตร (Bond Yield) อายุ 1 ปี ซึ่งผลลัพธ์ออกมาเป็นอัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนต้องการเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น
จากการย้ายเงินลงทุนจากตลาดพันธบัตรไปตลาดหุ้น หรืออาจเรียกว่า Risk Premium
จากการวัดค่า Earning Yield Gap ย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2548 ถึงกลางเดือนกันยายน พบว่า ค่าเฉลี่ย Earning Yield Gap อยู่ที่ 4.57% หมายความว่าหากนักลงทุนยอมย้ายเงินลงทุนจากพันธบัตรอายุ 1 ปี มาลงทุนในตลาดหุ้นจะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 4.57% ขณะที่ Market Earning Yield Gap ณ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 4.59% หมายความว่า
ตลาดหุ้นมีความน่าสนใจและเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนเริ่มหันมามองมากขึ้น ดังนั้น หาก Market Earning Yield Gap ปรับเพิ่มสูงขึ้นมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้มีความน่าสนใจมากขึ้นตามไปด้วย
จากปัจจัยและข้อมูลดังกล่าว “ประเด็นอยู่ที่ว่าต่างชาติจะกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยอีกครั้งเมื่อไหร่” เทิดศักดิ์ กล่าว
กลยุทธ์การเลือกหุ้นช่วง Fund Flow กำลังมา
ช่วงที่ตลาดหุ้นยังไม่มีทิศทางชัดเจน (Sideway) เทิดศักดิ์แนะนำให้นักลงทุนเลือกหุ้นปันผล (Dividend Stock) เป็นหลัก “เมื่อซื้อหุ้นที่มั่นใจว่าปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งก็คือ การ Lock ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ ซึ่งช่วงครึ่งแรกปีนี้หุ้นปันผลให้อัตราปันผลตอบแทนในระดับน่าประทับใจ”
แต่ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เมื่อเม็ดเงินต่างชาติมีแนวโน้มไหลกลับเข้ามา นักลงทุนควรมองหาหุ้นเติบโต (Growth Stock) เพื่อเน้นความคาดหวังผลตอบแทนส่วนต่างจากราคาหุ้น (Capital gain) “นักลงทุนต้องหาหุ้นที่มีความสามารถในการสร้างอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิต่อหุ้นโดดเด่น” ณัฐมล ทิ้งท้าย