แนวคิดการซื้อขายช่วงตลาดปรับฐานรุนแรง
“นักลงทุนทุกคนสามารถทำกำไรได้มากมายในช่วงที่ตลาดหุ้นเป็นขาขึ้น ปัจจัยบวก แรงจูงใจ และสภาพคล่อง ผลักดันให้หุ้นเกือบทั้งตลาดขึ้นได้ แต่เมื่อตลาดปรับฐานและเป็นขาลง จะมีเพียงกลุ่มนักลงทุนบางส่วนในตลาดเท่านั้นที่จะสามารถรักษาเงินทุนและกำไรเอาไว้ได้”
ดังนั้น หากตลาดหุ้นเริ่มปรับฐานและมีสัญญาณที่มีโอกาสสร้างความเสียหายให้กับพอร์ตลงทุน นักลงทุนต้องเริ่มระวังทันที ยกตัวอย่างสัญญาณดังกล่าวได้ดังนี้
- ตลาดเริ่มผันผวนรุนแรง
- พฤติกรรมราคาของกลุ่มหุ้นนำตลาด ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่นำตลาดทั้งช่วงขาขึ้นและขาลง
- ผลการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงของนักลงทุน ถ้าซื้อขายหุ้นด้วยหลักการเดิมและทำกำไรได้ดีมาตลอด แต่เมื่อผลการลงทุนช่วงหลังเริ่มแย่ลงเรื่อยๆ ต้องตระหนักแล้วว่าตลาดกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง และอาจจะมีบางอย่างที่ไม่ดีหรือผิดปกติเกิดขึ้น
- Sentiment โดยรวมของตลาดและนักลงทุนสวนใหญ่เริ่มตื่นตระหนก (Panic)
- เมื่อใดก็ตามที่ตลาดมีการซื้อขายอยู่ต่ำกว่าเส้น MA 200 วัน (เส้น MA 200 วันถือว่ามีนัยยะ เพราะบ่งบอกถึงแนวโน้มระยะยาว) มีโอกาส 1 ใน 3 (30%) ที่จะเกิดเหตุการณ์หรือข่าวไม่ดีที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบ
- ราคาหุ้นเริ่มไม่สามารถปรับขึ้นได้อย่างง่ายดาย หรือหุ้นเริ่มทยอยหลุดแนวรับทีละตัว
โดยจะสังเกตได้ว่าหลังจากตลาดหุ้นปรับฐานลงแล้ว ตลาดหุ้นและนักลงทุนจะมีพฤติกรรม ดังนี้
- ในช่วงแรกของการปรับฐาน นักลงทุนส่วนใหญ่จะยังไม่รับรู้ว่าตลาดไม่ดีและคิดว่าคงไม่มีอะไรเหมือนกับครั้งก่อนๆ จึงไม่เพิ่มความระมัดระวัง และเมื่อเข้าสู่ช่วงที่ตลาดปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนมักจะตื่นตระหนก และจะขายหุ้นในช่วงท้ายๆ ของตลาดขาลง (Bottom Process)
- การที่นักลงทุนส่วนใหญ่ปรับตัวช้ากว่าที่ควรจะเป็น แล้วตัดสินใจขายหุ้น ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ที่เตรียมพร้อมรับมือเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว
- จุดต่ำสุดของตลาด (Market Bottom) จะเกิดได้จากแรงซื้อจำนวนมากมาสนับสนุนให้ตลาดและหุ้นเริ่มกลับตัวได้จริง (Follow-Through Day, หุ้นนำตลาด Breakout) ไม่ใช่เกิดจากแรงขายจำนวนมาก
- กว่าที่ตลาดและหุ้นจะเกิด Uptrend รอบใหม่แต่ละครั้งจะต้องใช้เวลานานพอสมควร ถ้าช่วงไหนเห็นว่าหุ้นยังผันผวนมาก (High Volatility) แสดงว่าการปรับฐานอาจจะยังมีอยู่ เพราะแนวโน้มที่ชัดเจนจะเกิดในช่วงที่ความผันผวนเริ่มน้อยลง ตลาดและหุ้นรายตัวจะไม่เหวี่ยงขึ้นๆ ลงๆ รุนแรงมากนัก
- ถ้าตลาดหุ้นยังผันผวนรุนแรง นักลงทุนสามารถเลือกได้ว่าจะหยุดพักรอดูสถานการณ์ ลดการซื้อขาย หรือซื้อขายระยะสั้นลง เพื่อรอดูความชัดเจนของทิศทางตลาดว่าจะกลับตัวเป็นขาขึ้นได้หรือเปลี่ยนเป็นขาลงเต็มตัว ซึ่งจะมีผลต่อกลยุทธ์การลงทุนในระยะถัดไป
- การ Short ในขาลง ไม่ควรคิดถึงระยะยาวเป็นหลัก เพราะตลาดมักจะมีช่วงเด้งแรงกลับไปหาแนวต้านเดิม (Bear Market Rally) ซึ่งอาจจะทำให้กำไรที่ได้มาหายไปเกือบหมดได้
- การปรับฐานโดยมากแล้วมักจะกินเวลาไม่นาน จากนั้นไม่นานตลาดก็จะกลับตัวได้ แต่ถ้าหากตลาดปรับฐานนานแล้วยังไม่สามารถกลับตัวได้ ก็มีโอกาสที่จะเกิดภาวะหมี หรือ Bear Market โดยนิยามของภาวะหมีคือ ตลาดที่ซื้อขายอยู่ใต้เส้น MA 200 วัน ต่อเนื่องเป็นเวลานาน (ทุกครั้งที่ตลาดร่วงแรงและยาวนานมักจะเกิดเมื่อตลาดอยู่ใต้เส้น 200 วัน)
- ในช่วงตลาดขาลง ให้โฟกัสหุ้นที่แสดงตัวว่าแข็งแกร่งชัดเจนคือ ไม่ลงตามตลาด ขึ้นสวนวันที่ตลาดลงแรง เพราะถึงแม้ว่าตลาดเป็นขาลง แต่ก็พอจะมีหุ้นบางตัวที่ขึ้นสวนตลาดได้เป็นระยะ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดี แม้ว่าจะลงทุนยากกว่าช่วงปกติก็ตาม
โดยทั่วไปการปรับฐานจะมี 5 Stage ได้แก่
- ช่วงเริ่มต้นการปรับฐาน ตลาดจะเกิดการร่วงลงอย่างเร็วแรง ใช้เวลาประมาณ 1 – 3 สัปดาห์ ทำให้ตลาดเริ่มติดลบประมาณ 5 – 10% หรือมากกว่านั้น เกิดภาวะ Oversold และตลาดปิดต่ำกว่า MA 200 วัน
- การเด้งแรงๆ ในช่วงแรกหลังจากตลาด oversold โดยการเด้งในช่วงนี้ ตลาดมักจะไปชนแนวต้านที่เส้น MA หลักๆ คือ MA 20, 50 หรือ 200 วัน แล้วเริ่มลงต่อ
- ภาวะตลาดผันผวนรุนแรง คือ ช่วงที่ตลาดผันผวนขึ้นลงรุนแรงสลับกัน โดยตลาดและราคาหุ้นรายตัวจะเหวี่ยงมากในแต่ละวัน เป็นช่วงที่ลงทุนได้ยากมาก ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายซื้อหรือขายก็ตาม
- การทดสอบฐานเดิมของตลาดที่เกิดขึ้นในข้อ 1 จะมีจุดสังเกตที่สำคัญ ดังนี้
4.1 เริ่มเกิดสัญญาณที่มีความขัดแย้งกัน (Divergence) ในเชิงบวก เช่น ตลาดหุ้นโดยรวมทำ New Low แต่มีหุ้นทำ New Low น้อยลง ตลาดโดยรวมทำ New Low แต่มีหุ้น Breakout หรือมีหุ้นส่วนใหญ่เริ่มไม่ลงตามตลาด เป็นต้น
4.2 ถ้าตลาดเด้งแล้วไม่สามารถยืนได้ หลังจากการ Retest Low แสดงว่ามีโอกาสอยู่ในภาวะตลาดหมี หรืออย่างน้อยก็น่าจะต้องเจอการปรับฐานที่ยาวนานกว่าปกติ
- ช่วงการฟื้นตัวของจริง ช่วงนี้ตลาดและหุ้นส่วนใหญ่จะเริ่มมีทิศทางเดียวกัน นั่นคือแรงซื้อจะมากจนตลาดและราคาหุ้นปรับขึ้นรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นนำตลาด แม้จะเกิดภาวะ Overbought แต่ตลาดก็จะไม่ลงแรงมากนัก ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการลงทุนครับ