เทคนิคสแกนหาหุ้นเติบโต
Growth Investing จัดเป็นรูปแบบการลงทุนอีกแบบหนึ่งที่เน้นการลงทุนในหุ้นของบริษัทซึ่งมีศักยภาพในการเติบโตของกำไรสุทธิของกิจการสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ โดยที่ตลาดยังไม่ได้รับรู้หรือไม่เชื่อว่ากิจการนั้นๆ จะสามารถสร้างผลกำไรที่สูงขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ ราคาตลาดของหุ้นจึงยังไม่ได้สะท้อนถึงศักยภาพในการเติบโตสูง
โดยส่วนใหญ่รูปแบบการลงทุนแบบนี้จะนิยมใช้ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งบริษัทจดทะเบียนโดยทั่วไปมีการเติบโตของผลกำไรชะลอตัว ทำให้บริษัทที่ยังคงสามารถรักษาการเติบโตของผลกำไรในระดับที่สูงกว่าอุตสาหกรรม จึงเป็นบริษัทที่นักลงทุนให้ความสนใจในการลงทุนและให้การประเมินมูลค่า (Valuation) ที่สูงกว่าบริษัทอื่นๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน
เทคนิคการคัดเลือกหุ้นเติบโต จะพิจารณาจากอัตราส่วนทางการเงินที่เรียกว่า Price Earnings Growth (PEG) ก็คือ อัตราส่วนค่า P/E Ratio ของหุ้นหารด้วยอัตราการเติบโตของกำไรปกติต่อหุ้น (Core EPS Growth) โดยที่ค่า PEG ยิ่งต่ำกว่า 1 มากเท่าไรก็แปลว่าหุ้นบริษัทนั้นยิ่งถูก
PEG = P/E Ratio / Core EPS Growth
ตัวอย่าง
บริษัท A ซื้อขายที่ P/E Ratio 10 เท่า มีอัตราการเติบโตของผลกำไร 10% ในขณะที่บริษัท B ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันกับบริษัท A และมีรูปแบบธุรกิจ (Business Model) เหมือนกัน ซื้อขายที่ P/E Ratio 30 เท่า มีอัตราการเติบโตของผลกำไร 50%
ในกรณีนี้หากพิจารณากันในเชิงของ P/E Ratio พบว่าบริษัท A ซึ่งซื้อขายที่ P/E Ratio ต่ำกว่าบริษัท B ดังนั้น ในเชิงของการลงทุนเปรียบเทียบแบบ Value Investing สามารถสรุปได้ว่าบริษัท A มีราคาถูกกว่าบริษัท B
อย่างไรก็ตาม ในการวิเคราะห์แบบ Growth Investing พิจารณาจากอัตราส่วน PEG เป็นสำคัญ ดังนั้น หากมาคำนวณอัตราส่วน PEG ของบริษัท A จะได้ค่า PEG = 1.0 เท่า (10/10) ในขณะที่ PEG ของบริษัท B จะอยู่ที่ 0.6 เท่า (30/50)
ดังนั้น สามารถสรุปได้ว่าบริษัท B น่าสนใจลงทุนมากกว่าบริษัท A จากศักยภาพในการเติบโตของกำไรสุทธิ (ค่า PEG ของบริษัท B อยู่ที่ 0.6 เท่า ต่ำกว่าค่า PEG ของบริษัท A ที่อยู่ที่ 1.0 เท่า)
แต่ข้อควรระวังในการใช้อัตราส่วน PEG คือกำไรต่อหุ้นที่นำมาคำนวณหาค่า P/E Ratio ควรจะเป็นกำไรปกติจากการดำเนินงาน (core EPS) ที่ไม่รวมรายการพิเศษและอัตราการเติบโตของผลกำไรปกติต่อหุ้น (core EPS growth) ควรมีการเติบโตอย่างมั่นคงสม่ำเสมอ ไม่ใช่ว่าปีแรกเติบโตสูง 50% แล้วปีต่อมาเติบโตเหลือแค่ 5% อย่างนี้การใช้ค่าอัตราส่วน PEG
มาคัดเลือกหุ้นเติบโตอาจจะเกิดข้อผิดพลาดได้
โดยเฉพาะหากบริษัทมีการตกแต่งตัวเลขทางบัญชีในบางปี โดยการนำค่าใช้จ่ายต่างๆ มาบันทึกล่วงหน้า (Big bath) เพื่อให้ผลกำไรในปีนั้นไม่ดี แต่ต่อมาในปีต่อไปค่าใช้จ่ายที่มีการบันทึกไปล่วงหน้าแล้วก็จะลดลง ส่งผลให้ผลกำไรมีการเติบโตสูง (high core EPS growth) เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งในลักษณะนี้ทำให้นักลงทุนเกิดความผิดพลาดในการคัดเลือกหุ้นเติบโตได้
ผุ้ลงทุนควรมีความรู้เรื่องหุ้นเพิ่มเติม