เทคนิคสแกนหาหุ้นคุณค่า
Value Investing (VI) จัดเป็นรูปแบบการลงทุนแบบหนึ่งที่เน้นการลงทุนระยะยาวในหุ้นคุณค่าหรือลงทุนในหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของกิจการมาประกอบการตัดสินใจในการลงทุน ส่วนใหญ่แล้วการลงทุนหุ้นคุณค่าเป็นการลงทุนในกิจการที่มีรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Business model) ที่ยั่งยืน ผลการดำเนินงานไม่เปลี่ยนแปลงมากนักตามความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจ ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันระดับสูง ผลกำไรมีการเติบโตสม่ำเสมอต่อเนื่อง มีตราสินค้าเป็นที่ยอมรับและยากที่คู่แข่งจะมาแข่งขันได้ง่าย ที่สำคัญ ราคาหุ้นในปัจจุบันมีราคาต่ำกว่ามูลค่ากิจการที่แท้จริงมาก เรียกว่า Margin of safety สูง
วอร์เรน บัปเฟตต์ เป็นนักลงทุนคนแรกที่ริเริ่มแนวคิดการลงทุนในแบบหุ้นคุณค่า โดยหากพิจารณาพอร์ตการลงทุนล่าสุดของเขา (วันที่ 19 กันยายน 2560 จาก www.warren-buffett-portfolio.com) พบบริษัทที่มีคุณสมบัติในแบบหุ้นคุณค่า อย่าง Coca-cola, Wells, Fargo, Procter & Gamble (P&G), American Express และ Kraft Foods
ส่วนในประเทศไทย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เป็นนักลงทุนคนแรกๆ ที่นำแนวคิดการลงทุนแบบหุ้นคุณค่ามาเผยแพร่ หากพิจารณาพอร์ตการลงทุนล่าสุด (วันที่ 19 กันยายน 2560 จาก www.set.or.th) พบบริษัทที่มีคุณสมบัติในแบบดังกล่าวที่ดร.นิเวศน์ ถือหุ้นใหญ่อยู่ (ถือเกิน 0.5% ที่มีการรายงาน) เช่น CPALL, BAFS, EASTW, QH และ TCAP ซึ่งจะเห็นว่าบริษัทส่วนใหญ่ที่นักลงทุนหุ้นคุณค่าเลือกลงทุนระยะยาวจะเป็นธุรกิจที่บริษัทนั้นเป็นผู้นำตลาด (หรือมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูง) เป็นสินค้าที่มีการบริโภคจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน กิจการมีการเติบโตสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง มีการยอมรับในตราสินค้าเป็นอย่างดี
สำหรับเทคนิคในการสแกนหาหุ้นคุณค่า โดยทฤษฎีแล้วสามารถใช้การวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Qualitative analysis) และการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ (Quantitative analysis) เข้ามาช่วยในการสแกนโดยการวิเคราะห์เชิงปริมาณจะเป็นการหาอัตราส่วนทางการเงิน (Financial ratio) ในหลายองค์ประกอบมาพิจารณา เช่น อัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (P/BV Ratio) ซึ่งอัตราส่วนนี้ยิ่งต่ำกว่า 1 เท่ามากเท่าไรแปลว่าหุ้นยิ่งถูก
อัตราส่วนราคาตลาดต่อกำไรต่อหุ้น (P/E Ratio) ซึ่งอัตราส่วนนี้ยิ่งต่ำแปลว่าหุ้นยิ่งมีราคาถูก อัตราส่วนมูลค่ากิจการหากมีการสร้างทดแทนต่อมูลค่ากิจการของบริษัท เรียกว่า Tobin’ Q Ratio (Market value of assets/Replacement value of asset in place) ซึ่งอัตราส่วนนี้ยิ่งต่ำกว่า 1 เท่ามากเท่าไรแปลว่าหุ้นยิ่งถูก รวมถึงอัตราผลตอบแทนจากเงิน ปันผล (Dividend Yield) ซึ่งอัตราส่วนนี้ยิ่งสูงแปลว่าหุ้นยิ่งมีราคาถูก
ในส่วนของการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ สามารถพิจารณาได้ในหลายองค์ประกอบ เช่น กลยุทธ์ของบริษัท ความสามารถของผู้บริหาร โครงสร้างผู้ถือหุ้น ลักษณะของผลิตภัณฑ์ ความสามารถในการแข่งขัน วัฎจักรของอุตสาหกรรม ช่องทางการจัดจำหน่าย เครื่องหมายการค้า การดูแลและบริการลูกค้า อำนาจต่อรองของลูกค้า อำนาจต่อรองของผู้จัดหาวัตถุดิบ สินค้าทดแทน การเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่และการแข่งขันภายในอุตสาหกรรม
โดยการวิเคราะห์ทั้ง 2 ส่วนจะช่วยให้นักลงทุนสามารถคาดการณ์ได้ถึงผลการดำเนินงานในอนาคตและมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทที่สนใจเข้าไปลงทุนได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมให้มากก่าวนี้