สิ่งที่เรียกว่า… Overbought
หากดู Trend Line ซึ่งเป็นเครื่องมือวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิคประเภทหนึ่ง ซึ่งใช้สำหรับวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจการลงทุนไปตามแนวโน้ม จะพบว่า Trend Line ได้กดดัชนีหุ้นไทยเอาไว้มาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา แต่ว่าในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Trend Line สามารถทะลุขึ้นไปได้ ทำให้หุ้นไทยเกิดสัญญาณ “บวก” นั่นคือดัชนีทะลุผ่านแนวต้านตรงบริเวณ 1,600
จุด ดังนั้น ในเชิง Trend Line ถ้ากดราคาหุ้นไว้นานเท่าไหร่ แล้ววันหนึ่งสามารถทะลุผ่านไปได้ จะส่งผลทำให้สัญญาณบวกตลาดจะค่อนข้างแรง และถัดจากนั้นไม่กี่วัน Trend Line ทะลุผ่านจุดเดิมตรงบริเวณ 1,650 จุด ซึ่งเป็นดัชนีที่เคยสูงสุดในรอบ 23 ปี ในทางเทคนิคหมายถึง การคอนเฟิร์มว่าตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นอีกรอบ
อย่างไรก็ตาม การที่ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นอย่างรวดเร็วในรอบนี้ เกิดคำถามและชวนให้สงสัยว่า เครื่องมือทางเทคนิคประเภทไหนที่ส่งสัญญาณว่าหุ้นไทย “ร้อนแรง” เกินไป ประเด็นนี้ ชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้ช่วยผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า เครื่องมือการวิเคราะห์ทางเทคนิคที่อธิบายเรื่องดังกล่าว คือ RSI (Relative Strength Index) เป็นเครื่องมือ
วัดการแกว่งตัวของราคาหุ้น เพื่อดูสภาวะการซื้อมากเกินไป (Overbought) หรือขายมากเกินไป (Oversold)
“Overbought หรือ Oversold เป็นการวัดโมเมนตัมของราคาว่าในช่วงเวลาที่เรากำหนดว่าราคาปรับขึ้น (หรือปรับลง) แรงเกินไปหรือไม่”
RSI จะวิ่งระหว่าง 0 – 100 “ถ้าวิ่งเหนือระดับ 70% แสดงว่าอยู่ในสภาวะซื้อมากเกินไป แต่ถ้าต่ำกว่า 30% บอกถึงขายมากเกินไป” ชาญชัย กล่าว
จากสภาวะตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่าราคาหุ้นปรับทะลุระดับ 70% และแตะระดับ 91% (อยู่ในสภาวะการซื้อมากเกินไป) นับเป็นค่า RSI ที่ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2543 ที่เคยแตะระดับ 90%
“หลังจากดัชนีหุ้นไทยทะลุผ่าน 1,600 จุด ในมุมมองเชิงเทคนิค เป็นขาขึ้นรอบใหม่เพียงแต่ว่า RSI ที่เข้าสู่สภาวะซื้อมากเกินไปหรือตลาดร้อนแรงเกินไป ในระยะสั้นๆ เป็นสัญญาณเตือนให้นักลงทุนไม่ควรไปไล่ซื้อหุ้นที่ราคาปรับตัวขึ้นเร็วและสูงเกินไป” ชาญชัย แนะนำ
อย่างไรก็ตาม RSI ไม่สามารถยืนอยู่ในระดับสูงๆ ได้ตลอด โดยธรรมชาติจะปรับลดลงมาผ่านการปรับลดลงของราคาหุ้น “ถ้านักลงทุนเห็น RSI สูงๆ อย่าไปไล่ซื้อหุ้นที่มีราคาปรับขึ้นแรง แต่ควรรอซื้อตอนที่ราคาหุ้นย่อลงมา” ชาญชัย ย้ำ
สำหรับนักลงทุนที่เน้นลงทุนระยะปานกลางถึงระยะยาว ในภาวะตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นหากมีหุ้นอยู่แล้ว ชาญชัยแนะนำว่า “ไม่ควรขายทำกำไร เพราะถึงแม้ราคาหุ้นจะปรับย่อลงมา แต่สุดท้ายราคาก็จะปรับขึ้นไปอีก”
RSI คำนวณมาจากค่าเฉลี่ยของราคาหุ้นปรับขึ้นหารด้วยราคาที่ปรับลง ในรอบ 14 วัน “ดังนั้น ถ้า RSI จะปรับลดลงได้ แสดงว่าอัตราส่วนราคาที่ปรับขึ้นจะต้องปรับลดลง ขณะเดียวกันนักลงทุนระยะสั้นบางส่วนอาจจะตัดสินใจขายหุ้นเพื่อทำกำไร ทำให้ราคาย่อลงมา” ชาญชัยอธิบายถึงปัจจัยที่ส่งผลให้ RSI ลดลงมา
กระนั้นก็ดี ชาญชัยมองว่าการที่ RSI ปรับขึ้นระดับสูงถือเป็นสัญญาณที่ดี เพราะในอดีตที่ผ่านมาพบว่า ขณะที่ตลาดหุ้นไม่ค่อยเคลื่อนไหวในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ถัดจากนั้นตลาดปรับขึ้นอย่างรวดเร็วและ RSI พุ่งขึ้นทะลุ 70% “มีหลายครั้งที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ ทำให้ตลาดหุ้นปรับขึ้นได้อีก ซึ่งในระหว่างทาง RSI จะปรับย่อลง แต่จากนั้นก็จะปรับขึ้นไปและสามารถเกิด New High ได้”
ถัดจากนี้ไป ชาญชัยมองว่าตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับฐานแต่เกิดในเวลาสั้นๆ จากนั้นจะไปทดสอบแถวๆ ดัชนี 1,700 จุด เป็นบริเวณแนวต้านใหญ่และเป็นจุดที่นักลงทุนเกือบทุกคนรอขายทำกำไร “หากเป็นลักษณะนี้จะเห็นตลาดหุ้นไทยปรับฐานตรงแถว 1,700 จุดอีกครั้ง” การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษาเพิ่มเติม