คุณสมบัติ 8 ประการของหุ้นปันผลที่ดี
เมื่อใกล้ถึงปลายปี นักลงทุนที่ชื่นชอบการลงทุนในหุ้นปันผลเริ่มจับตามองและประเมินกันแล้วว่า หุ้นตัวไหนจะจ่ายเงินปันผลต่อหุ้นกี่บาท (EPS) มีอัตราปันผลตอบแทน (Dividend Yield) กี่เปอร์เซ็นต์ และนี่คือคุณสมบัติที่ดีของหุ้นปันผล
- เลือกบริษัทที่เต็มใจและมีความพร้อมที่จะจ่ายเงินปันผล โดยให้ดูบริษัทที่สร้างผลกำไรที่สม่ำเสมอมั่นคง (ไม่ใช่เป็นบริษัทที่มีกำไรไม่แน่นอน ปีนี้กำไรมาก ปีหน้ากำไรน้อย ปีถัดไปขาดทุน)
ดังนั้น เวลาดูว่าบริษัทมีผลประกอบการ ผลกำไรมั่นคงแน่นอน ต้องกลับไปดูผลการดำเนินงานในอดีตว่าเป็นอย่างไร ซึ่งอาจจะดูย้อนหลัง 5 ปีขึ้นไป โดยดูว่าผลกำไรที่ทำได้สม่ำเสมอ หรือว่าขึ้นๆ ลงๆ
- เลือกบริษัทที่ดำเนินธุรกิจที่ไม่ผันผวน โดยเวลาเลือกหุ้นปันผลต้องมองข้ามหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่แน่นอน หากเป็นช่วงที่ธุรกิจเป็นวัฎจักรขาลง การซื้อหุ้นเพื่อรอรับปันผลไปเรื่อยๆ คงไม่เหมาะสมมากนัก เนื่องจากเมื่อธุรกิจมีความผันผวน ย่อมทำให้ผลการดำเนินงานมีความผันผวนตามไปด้วย
สำหรับหุ้นกลุ่มที่จ่ายปันผลสม่ำเสมอและน่าจับตามอง ได้แก่ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์, หุ้นกลุ่มธุรกิจให้บริการด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า
- บริษัทมีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งเพียงพอที่จะจ่ายเงินปันผลมากน้อยแค่ไหน โดยให้ดูที่โครงสร้างหนี้ว่า มีหนี้สินต่อทุนสูงเกินไปหรือไม่ และโครงสร้างหนี้เป็นหนี้ระยะสั้นหรือระยะยาว (ถ้ามีหนี้ระยะสั้นมากๆ ความพร้อมในการจ่ายเงินปันผลอาจจะมีน้อย)
- กระแสเงินสด ซึ่งนักลงทุนรายย่อยให้ความสนใจน้อยมาก เพราะหลักๆ จะดูแค่กำไรขาดทุนเป็นหลัก แต่ความจริงแล้วกระแสเงินสดมีความสำคัญที่สุด เพราะเป็นตัวบ่งชี้ว่ามีความสามารถจ่ายเงินปันผลหรือไม่ โดยให้ไปดูที่งบกระแสเงินสดว่า บริษัทนั้นๆ มีกระแสเงินสดเป็น “บวก” หรือ “ลบ”
เนื่องจากเมื่อทำธุรกิจและมีรายได้เข้ามา จะเป็นกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ซึ่งผู้บริหารของบริษัทจะไปจัดสรรเงินดังกล่าวว่าจะนำไปทำอะไรบ้าง เช่น นำไปลงทุน นำไปจ่ายหนี้ หรือเป็นเงินปันผล ดังนั้น หากกระแสเงินสด “ติดลบ” หากคิดจะจ่ายปันผล ก็คงต้องไปกู้เงินมาจ่ายปันผล ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ดีนัก
- ดูราคาหุ้น โดยให้ดูที่ Low Beta ถ้าเป็นหุ้นปันผลจะต้องมี Beta ต่ำๆ หมายความว่า ลงทุนไปแล้วและหวังเงินปันผล ก็ไม่ต้องไปกังวลกับความผันผวนด้านราคามากจนเกินไป
- เลือกลงทุนหุ้นปันผลที่มีสภาพคล่องในการซื้อขาย (อย่าเลือกลงทุนหุ้นที่ไม่มีสภาพคล่อง) โดยเลือกหุ้นปันผลที่มีมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่พอสมควร แต่ถ้าเป็นหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปน้อยๆ ต้องเลือกหุ้นที่มีการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) มากกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด
- ดู Pay-out Ratio ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่ โดยอาจจะเลือกหุ้นที่มี Pay-out Ratio มากกว่า 50% ขึ้นไป เพราะเป็นระดับที่บ่งชี้ว่ามีการดำเนินงานที่นิ่ง เพราะบริษัทไหนที่อยู่ในช่วงขยายกิจการ ก็ต้องเก็บเงินเอาไว้ขยายกิจการ ทำให้ระดับการจ่ายเงินปันผลลดลงตามไปด้วย
- ให้ลงทุนในหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสูงกว่าระดับเงินเฟ้อ เพราะถ้าต่ำกว่าเงินเฟ้อก็ไม่มีประโยชน์ และถ้าจะให้ดีที่สุดเงินปันผลจะต้องสูงกว่าระดับเงินเฟ้อบวกกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก การลงทุนมีความเสี่ยง