VI หรือ MI เลือกที่ใช่ แล้วไปให้สุด
ตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 รูปแบบการลงทุนที่ถูกกล่าวถึงแทบจะทุกวัน คือ การลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investing : VI) กับการลงทุนแบบตามกระแส (Momentum Investing : MI) ซึ่งจะว่าไปแล้วทั้งสองรูปแบบนี้ มีความแตกต่างกันพอสมควร
การลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investing)
ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติหรือเศรษฐกิจซบเซา พบว่านักลงทุนจะเน้นลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง รายได้ไม่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ มีความสามารถในการทำกำไรที่ดีและสม่ำเสมอ ธุรกิจมั่นคงและมีโอกาสเติบโตไปได้เรื่อยๆ โดยหุ้นที่มีคุณสมบัติดังกล่าว เรียกว่า หุ้นคุณค่า (Value Stock)
โดยก่อนตัดสินใจลงทุน นักลงทุนหุ้นคุณค่า (Value Investor) จะเน้นการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของบริษัท เพื่อหามูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นตัวนั้น ซึ่งประเด็นหลักที่ใช้ในการคัดกรองหุ้น ได้แก่
- ธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตดี
- ธุรกิจมีความแข็งแกร่งและเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนั้น
- มีความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน
- เป็นหุ้นที่ยังไม่ได้รับความนิยมหรือได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากนัก
เมื่อค้นหาธุรกิจเป้าหมายได้แล้ว นักลงทุนหุ้นคุณค่าจะคัดกรองหาหุ้นต่อ ด้วยการใช้อัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ในการวิเคราะห์ ยกตัวอย่างเช่น
- เป็นหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอและมีอัตราการจ่ายเงินปันผล (Dividend Yield) สูงกว่าค่าเฉลี่ยของหุ้นที่อยู่ในกลุ่มหรืออุตสาหกรรมเดียวกัน
- มีกระแสเงินสด (Cash Flow) เป็นบวก
- D/E Ratio อยู่ในระดับต่ำ คือ มีหนี้สินต่อทุนต่ำหรือไม่มีการกู้เงินเลย
- อัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E Ratio) และอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (P/BV Ratio) อยู่ในระดับต่ำ และควรต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหรือในอุตสาหกรรมเดียวกัน
ถ้าหุ้นมีลักษณะเช่นนี้ แสดงว่าเป็นหุ้นที่มีมูลค่าและราคาถูกเมื่อเทียบกับตลาดหรือในอุตสาหกรรมเดียวกัน จากนั้นนักลงทุนหุ้นคุณค่าจะรอจนกระทั่งราคาหุ้นลดลงสู่ระดับราคาที่เหมาะสมจึงจะเข้าลงทุน เพราะเชื่อว่าในระยะยาว ราคาหุ้นจะปรับตัวเข้าสู่มูลค่าพื้นฐานที่แท้จริง ดังนั้น การลงทุนในหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานที่แท้จริง จะมีโอกาสสร้างผลกำไรได้มากกว่าขาดทุน
และจะตัดสินใจขายหุ้น เมื่อราคาปรับขึ้นสูงเกินกว่ามูลค่าที่เหมาะสม หรือเมื่อปัจจัยพื้นฐานของบริษัทมีการเปลี่ยนแปลง จนทำให้มูลค่าที่เหมาะสมของบริษัทปรับลดลงสู่ระดับที่ไม่น่าสนใจ
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า นักลงทุนหุ้นคุณค่าจะมีกฎหลักอยู่ 2 ข้อ คือ
- ซื้อบริษัทที่ดี
- ซื้อในราคาที่เหมาะสม
การลงทุนแบบตามกระแส (Momentum Investing)
ขณะที่นักลงทุนหุ้นคุณค่า เน้นวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของบริษัท ศึกษาข้อมูลจากงบการเงิน เพื่อหามูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นตัวนั้น แต่การลงทุนแบบตามกระแส จะเน้นการลงทุนตามเทรนด์ขาขึ้นของตลาด เกาะกระแสฟันด์โฟลว์ (Fund Flow) คือ ลงทุนตามทิศทางเงินทุนไหลเข้า ประกอบกับการใช้ข้อมูลทางเศรษฐกิจ มาช่วยในการวิเคราะห์ โดยมีหลักการเลือกหุ้น ดังนี้
- มองการลงทุนในภาพใหญ่ ระดับเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomics) โดยใช้ข้อมูลตัวเลขทางด้านเศรษฐกิจ เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจ ดุลบัญชีเดินสะพัด การส่งออก รายได้ภาคครัวเรือน แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น เพื่อนำมาใช้วางกลยุทธ์การลงทุน
- ค้นหาอุตสาหกรรมที่โดดเด่น ซึ่งได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ เมื่อเลือกกลุ่มอุตสาหกรรมได้แล้ว ก็มาดูปัจจัยพื้นฐาน วิเคราะห์งบการเงินของบริษัทที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวว่ามีความแข็งแกร่งเพียงใด
- ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ทางด้านเทคนิค เพื่อจับจังหวะในการลงทุน
การเลือกหุ้นเพื่อลงทุนแบบตามกระแส ต้องเป็นหุ้นที่อยู่ในวัฏจักรธุรกิจที่เป็นขาขึ้น มีการเติบโตของรายได้และยอดขาย รวมถึงแนวโน้มราคาหุ้นก็เป็นขาขึ้นด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันหุ้นนั้นต้องอยู่ในความสนใจของตลาด หุ้นเก็งกำไร หรือหุ้นที่มีสัญญาณซื้อทางเทคนิค และต้องผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจ รวมถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับหุ้นนั้นในเชิงบวกมากกว่าเชิงลบ
เนื่องจากนักลงทุนแบบตามกระแสเชื่อว่า การมีข่าวดีจะได้รับการตีความไปในทิศทางที่ดี ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นไปได้ และเมื่อกระแสหุ้นเริ่มเปลี่ยนทิศเป็นขาลง หรือมีกระแสข่าวลบกดดันราคาหุ้นให้ปรับตัวลดลง ก็จะขายหุ้นออกไป ดังนั้น นักลงทุนจึงต้องเข้าใจวัฏจักรธุรกิจ เกาะติดสถานการณ์ข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด วิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและใช้เครื่องมือการลงทุนทางเทคนิคได้เป็นอย่างดี
แนวคิดสำคัญของการลงทุนแบบตามกระแส มีดังนี้
- เลือกธุรกิจที่เติบโตทั้งรายได้และยอดขาย
- เลือกธุรกิจที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง
- บริษัทมี P/E Ratio สูง แปลว่า ซื้อหุ้นบริษัทนั้นในราคาสูง และขายในราคาที่สูงกว่า
- ยอมรับความผิดพลาดและมีวินัยในการตัดขาดทุน (Stop Loss)
- รับความเสี่ยงและความผันผวนได้สูง
การลงทุนมีหลายรูปแบบเพื่อให้นักลงทุนเลือกใช้ โดยปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนประสบความสำเร็จ คือ การเลือกรูปแบบการลงทุนให้เหมาะสมกับตนเอง ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุน ควรเลือกรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองมากที่สุด