วางแผนเที่ยวอย่างไร ให้คุ้มทั้งเงินและเวลา
การท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่หลายคนชื่นชอบ แต่ก็มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง ทำให้ต้องวางแผนการเงินเพื่อไม่ให้งบประมาณบานปลาย ทั้งนี้ 5 ปัจจัยหลักที่ต้องพิจารณาประกอบการประมาณการค่าใช้จ่าย ได้แก่
- Where คือ กำหนดที่เที่ยวก่อน ถ้าเที่ยวในประเทศจะไปจังหวัดไหน หรือถ้าไปต่างประเทศ จะไปประเทศไหน ส่วนนี้เป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่องบประมาณมากที่สุด
- How ไปอย่างไร ไปเที่ยวแบบไหน คือ ไปเที่ยวกับทัวร์หรือวางแผนเที่ยวเอง ไปแบบกินหรูอยู่สบาย ไปเที่ยวแบบประหยัด นอนโฮมสเตย์ (Home Stay)
- When เดินทางในช่วงไหน เป็นช่วงยอดนิยม (High Season) หรือไม่ เช่น เป็นช่วงปิดเทอม วันหยุดยาว หรือฤดูกาลพิเศษ เช่น หน้าซากุระบาน ทิวลิปสวย หรือไปหน้าหนาวเพื่อไปสกีรีสอร์ต ไปเล่นหิมะ เป็นต้น ต้องเช็คช่วงเวลาให้ดี เพราะจะมีผลต่อราคาค่าตั๋วเดินทาง ค่ารถเช่า และค่าที่พัก รวมถึงการเตรียมเสื้อผ้าเป็นอย่างมาก
- How Long เที่ยวนานแค่ไหน หลังจากกำหนดว่าจะไปท่องเที่ยวแบบไหน ให้ประมาณการค่าใช้จ่ายต่อวัน ถ้าไปกับทัวร์ให้มีพ็อกเก็ตมันนี่เผื่อช้อบปิ้งตามนิสัยชอบซื้อของแต่ละคน เพิ่มจากค่าทัวร์ที่ต้องชำระล่วงหน้า ถ้าไปเที่ยวเอง ให้ประมาณการค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าตั๋วเข้าชมสถานที่ต่างๆ ต่อวันคูณจำนวนวัน และเผื่อสำรองอีกอย่างน้อย 20 – 30%
- With Whom คือ ไปกับใคร นิสัยเป็นอย่างไร เช่น ถ้าไปกับเด็กและคนชรา ต้องเตรียมเวลาเผื่อสำหรับการเดินทางนานๆ เช่น กรณีนั่งรถนานๆ อาจต้องเตรียมหาจุดพักและห้องน้ำระหว่างทางในแต่ละจุดด้วยไว้ด้วย ถ้ากับคนชอบช็อปปิ้ง ต้องต้องเผื่อเวลาช็อปปิ้ง การทำภาษีคืนที่สนามบิน และซื้อเพิ่มน้ำหนักกระเป๋าล่วงหน้าถ้าคาดว่าต้องโหลดของเผื่อไว้ด้วย
หลังจากกำหนดทั้ง 5 ปัจจัยหลักแล้ว ก็สามารถประมาณงบประมาณและระยะเวลาที่ต้องใช้เพื่อวางแผนการออมได้ โดยมีเทคนิคมาฝากเพิ่มเพื่อให้อยู่ในงบประมาณที่กำหนดไว้ คือ
- ทำงบประมาณ กำหนดจุดที่เที่ยวและจุดที่พักอย่างละเอียด
กรณีขับรถเที่ยวเอง ให้กำหนดจุดที่พักรถ จอดรถ และสถานที่ที่จะเที่ยวไว้ล่วงหน้าอย่างละเอียด รวมถึงระยะเวลาเข้าชมในแต่ละจุด โดยเฉพาะสถานที่ที่ต้องขับรถทางไกล เช่น ในออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา หรือกรณีเที่ยวข้ามประเทศในยุโรปตะวันตก เพื่อให้แน่ใจว่าไม่พลาดสถานที่แนะนำ
ในหลายประเทศที่จอดรถหายากและมีราคาค่าเช่าที่จอดสูงมากจึงต้องเผื่องบประมาณด้านนี้ด้วย และอย่าลืมไปทำใบขับขี่สากลก่อนเดินทางกรณีประเทศนั้นไม่รับใบขับขี่ไทย
สำหรับที่พัก ต้องเผื่อเวลาหาที่พักด้วย โดยเฉพาะกรณีจองที่พักราคาพิเศษผ่านออนไลน์ ซึ่งอาจเป็นที่พักที่ห่างไกลจากตัวเมืองหรือถนนสายหลักมาก ถ้าขับรถเองต้องเช็คว่าที่พักมีที่จอดรถให้หรือไม่ แต่ถ้าไม่ได้ขับรถต้องเผื่อวิธีการเดินทางและค่าเดินทางไปที่พักไว้ด้วย
- หาข้อมูลของสถานที่เที่ยว
ก่อนเดินทางควรหาข้อมูลรถเช่า ค่าโดยสาร ร้านอาหาร ที่พัก ที่พักรถ จากรีวิวต่างๆ ในโลกออนไลน์ไว้ล่วงหน้า หลายประสบการณ์ที่นำมาแชร์ในรีวิวต่างๆ จะช่วยให้เตรียมตัวและวางแผนได้ล่วงหน้า
- จองตั๋วโดยสารและตั๋วเข้าชมล่วงหน้า
ในกรณีที่สามารถกำหนดเวลาเดินทางได้แน่นอน ควรจองตั๋วโดยสาร ตั๋วเข้าชมสถานที่ไว้ล่วงหน้า เพราะอาจได้ราคาถูกกว่าไปจองช่วงใกล้ๆ หรือไปจองหน้าสถานที่
การจองตั๋วเครื่องบินล่วงหน้านานๆ นอกจากจะทำให้ได้ส่วนลดจำนวนมากแล้ว ยังทำให้แน่ใจว่าจะได้ตั๋วแน่นอน โดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่น อย่างไรก็ตาม ถ้าวันเดินทางยังมีโอกาสเลื่อนได้ ต้องจองตั๋วแบบเปลี่ยนได้ (Flexi) เสมอ แม้ว่าจะแพงกว่าตั๋วแบบเปลี่ยนเวลาเดินทางไม่ได้ก็ตาม
ในกรณีที่มีการสะสมไมล์จากสายการบิน ให้เช็คจำนวนไมล์ที่มีอยู่ อาจสามารถนำมาลดค่าโดยสาร อัพเกรดตั๋วเดินทาง หรือซื้อน้ำหนักกระเป๋าเพิ่มได้
การจองตั๋วโดยสารทั้งรถไฟบนดิน ใต้ดิน หรือระหว่างเมือง แบบเหมาจ่าย รายวัน สามวันหรือเป็นอาทิตย์จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มาก ในหลายประเทศสามารถซื้อตั๋วเดินทางแบบเหมาทั้งรถเมล์ รถราง รถใต้ดิน และรถไฟ ได้ในใบเดียวกัน
สำหรับคนที่ชอบไปชมสถานที่ไฮไลท์ต่างๆ ในหลายประเทศจะมีการจำหน่ายคูปองแบบเหมาซึ่งจะรวมตั๋วค่าเข้าสถานที่ดังกล่าวไว้ด้วยกัน ซึ่งจะถูกกว่าที่เราไปจ่ายหน้างานถึง 30 – 50% และในหลายประเทศถ้าจองล่วงหน้าผ่านออนไลน์จะได้ส่วนลดเพิ่มอีก นอกจากนี้ ในหลายประเทศยังเปิดให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์หรือปราสาทฟรีในบางช่วงเวลาด้วย
ซึ่งสามารถหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ที่ทำขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวของประเทศนั้นๆ
- เป็นสมาชิกเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นโรงแรม สายการบิน และเอเจนซี
การเป็นสมาชิกจะทำให้ได้ข่าวสารโปรโมชั่นก่อนคนอื่น และในหลายเว็บไซต์ยังมีการให้บริการเหมารวมการจองที่พัก ตั๋วเครื่องบิน และรถเช่าไว้ด้วยกัน ซึ่งจะมีราคารวมที่ถูกลง
- การแลกเงิน เตรียมวงเงินบัตรเครดิต
ควรแลกเงินสกุลท้องถิ่นไว้ล่วงหน้าในประเทศไทยเพราะราคาถูกกว่า และเนื่องจากเงินบาทไม่ใช่สกุลเงินหลักทำให้หลายประเทศไม่มีให้แลกเงินบาท นอกจากนี้ ในหลายประเทศจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมค่าแลกเงินเพิ่มขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ประกาศไว้ด้วย
สำหรับบัตรเครดิต ควรโทรศัพท์ไปแจ้งไว้ก่อนว่าจะเดินทางไปต่างประเทศและอาจขอวงเงินเพิ่มสำรองไว้ล่วงหน้าเผื่อฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม การใช้บัตรเครดิตจะมีการคิดอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงกว่าปกติประมาณ 1 – 3% เพื่อสำรองเผื่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้น ถ้าแลกเงินสดไปมากควรใช้เงินสดก่อนเพราะถูกกว่า การขอภาษีคืนก็ควรขอเป็นเงินสด
เพราะถ้าขอคืนเข้าบัตรเครดิตจะมีการคิดค่าแลกเปลี่ยนดังกล่าวเพิ่มทำให้ได้เงินลดลง
หากก่อนเดินทางมีการวางแผนการเงินเพื่อท่องเที่ยวให้รัดกุม นอกจากทำให้งบไม่บานปลาย ไม่มีหนี้ติดตัวกลับมา ยังทำให้เที่ยวได้อย่างมีความสุขตลอดทริป เป็นการวางแผนการเงินก่อนเที่ยวได้ยอดเยี่ยมมาก