คิดอยากเกษียณ แต่ยังไม่พร้อมแบบนี้ พี่ไม่โอเค
หากใครคิดอยากเกษียณต้องวางแผนให้ดีๆ เพราะในโลกความเป็นจริงแล้ว “การเกษียณ” ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น คนที่พร้อมจะเกษียณ ล้วนต้องเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะแผนด้านการเงิน
เงินพร้อม
แผนงบประมาณการใช้จ่ายพร้อม
แผนการลงทุนหลังวัยเกษียณพร้อม
แผนการใช้ชีวิตพร้อม
ทีนี้มาดูกันว่าคนที่ไม่พร้อมจะเกษียณมาจากสาเหตุอะไรได้บ้าง
- อาลัยอาวรณ์การทำงาน
สมมติว่าสิ้นปีนี้ มีอายุครบ 60 ปี แต่รู้สึกว่ายังรักและสนุกกับการทำงาน ขณะเดียวกันองค์กรก็ยังเต็มใจให้ทำงานต่อ พูดง่ายๆ ไม่อยากให้เกษียณ ถ้าทุกอย่างลงตัวแบบนี้ก็ควรเลื่อนเวลาการเกษียณออกไป
จะว่าไปแล้วการทำงานอาจมีประโยชน์มากกว่าเงิน งานที่ทำแล้วสนุกเพลิดเพลิน รวมถึงการได้อยู่กับสังคมที่ดีจะทำให้จิตใจสดชื่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถช่วยให้มีสุขภาพที่ดีและมีความสุข ที่สำคัญทำให้ยังมีสวัสดิการต่างๆ โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาล ประกันสุขภาพ ประกันสังคม รวมถึงเงินเดือน
- เงินที่มี ใช้ไม่กี่ปีก็หมด
หลังเกษียณอยากมีเงินใช้ 30,000 บาทต่อเดือน หรือ 360,000 บาทต่อปี สมมติว่าจะมีชีวิตอยู่ไปจนถึงอายุ 85 ปี แสดงว่าถ้าเกษียณอายุ 60 ปี จะมีชีวิตหลังเกษียณอีก 25 ปี ถ้าคิดง่ายๆ ก็หมายความว่าต้องเตรียมเงินไปใช้หลังเกษียณ 9,000,000 บาท (360,000 บาท x 25 ปี)
เมื่อสำรวจเงินที่เก็บออมเอาไว้ ถ้ามี 9,000,000 ล้านบาทหรือมากกว่านี้ ถือว่าบรรลุตามเป้าหมายก็เกษียณได้ แต่ถ้าดูแล้วพบว่ายังมีเงินเก็บไม่ถึง ก็คงต้องหาทางออก เช่น ลดการใช้เงินหลังเกษียณแต่ละเดือนลง เช่น เหลือเดือนละ 20,000 บาท หรือ 240,000 บาทต่อปี นั่นหมายถึงเตรียมเงินไปใช้หลังเกษียณเพียง 6,000,000 บาท
ดังนั้น หากต้องการเกษียณแบบสวยๆ ควรเริ่มเก็บออมกันตั้งแต่อายุน้อยๆ ดีกว่า
- หนี้ยังเยอะ
ถ้าคุณอายุ 50 ปี แต่ยังมีภาระหนี้เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ หนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรกดเงินสด พูดง่ายๆ พอเงินเดือนออกก็ต้องเอาไปจ่ายหนี้เป็นส่วนใหญ่ เช่น เงินเดือน 50,000 บาท จ่ายหนี้ 35,000 บาท
ยิ่งไปกว่านั้น หลังเกษียณไปแล้วยังต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ แถมมีหนี้บัตรเครดิตพ่วงมาอีก เงินที่เก็บออมมาก็คงต้องเอาไปจ่ายหนี้ คำถามคือ จะเหลือเงินใช้หลังเกษียณเท่าไหร่ ดังนั้น ก่อนเกษียณควรปลดหนี้ให้หมด หรือถ้าเหลือก็ให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
- ไร้แผนการเงินในอนาคต
ก่อนเกษียณแต่คุณยังไม่มีแผนการใช้จ่ายเงิน เพราะคิดว่า “เรื่องเงิน เอาอยู่” พอถึงวันเกษียณจริงๆ มีหลายคนที่เบิกเงินไปใช้จ่ายอย่างสนุกมือ เพื่อความบันเทิงความสุขต่างๆ สุดท้ายเงินที่เก็บมาค่อนชีวิตหมดลงภายในเวลาอันรวดเร็ว
สิ่งที่เจอบ่อยๆ ของคนวัยเกษียณ คือ การมีเวลาว่างมากทำให้หลายๆ คนตัดสินใจใช้เวลาไปลงทุนที่ตัวเองไม่ถนัดหรือไม่ได้ศึกษาข้อมูลเพียงพอ แม้กระทั่งถูกชักชวนจากเพื่อนๆ เช่น ลงทุนหุ้นเก็งกำไร ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล หรือนำเงินเก็บไปทำธุรกิจ ซึ่งการใช้เงินที่ไม่ได้อยู่ในแผนอาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้
นอกจากนี้แล้ว มีหลายคนที่ยังไร้แผนการใช้จ่ายรายเดือนว่าพอถึงวัยเกษียณแล้วในแต่ละเดือนจะใช้จ่ายอะไรบ้าง เพราะเข้าใจว่าการใช้จ่ายหลังเกษียณไม่มีความแตกต่างจากวันนี้ จึงไม่เตรียมแผนดังกล่าวเอาไว้
- แผนการลงทุนหลังเกษียณ คืออะไร
หลายคนที่ก่อนเกษียณมีแผนการลงทุนอย่างชัดเจน แต่พอถามถึงแผนการลงทุนหลังเกษียณกลับไม่มีเพราะคิดว่าไม่มีความจำเป็น ความจริงแผนการลงทุนหลังเกษียณมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นเงินก้อนสุดท้าย
ดังนั้น ต้องวางแผนให้ดีๆ ว่าจะแบ่งไปเก็บออม ไปลงทุนด้วยวิธีไหน เพื่อทำให้เงินต้นไม่หายและยังมีผลตอบแทนงอกเงยในระดับที่เหมาะสมกับช่วงอายุ ควรศึกษาข้อมูลให้ดีเสียก่อน เพราะทุกการลงทุนมีความเสี่ยง